ข้อสรุปของ ข้อสรุปการตรวจราชการของศึกษาธิการจังหวัด บันทึกเมื่อวันที่ Date: 29 สิงหาคม 2564

หัวข้อการตรวจกรณีพิเศษ : การจัดการเรียนการสอนในสถานะการ Covid-19

การตรวจราชการกรณีพิเศษ

1. การจัดการเรียนการสอนและการดำเนินการตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)  

1.1 การจัดการเรียนการสอนในช่วงการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

                     1) ผลการขับเคลื่อนนโยบาย

                       - สถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนแบบ On site ได้ โรงเรียนจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนตามความเหมาะสม  ในส่วนของโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนแบบ Online มีการนิเทศการใช้สื่อ และนวัตกรรมในการจัดการเรียนการสอน ทุกโรงเรียนมีการอบรมพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสำหรับครูผู้สอน เช่น google form, Youtube, Line/Facebook เป็นต้น

              - โรงเรียนส่วนใหญ่จัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานหลายรูปแบบ โดยมีการจัดการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต (ONLINE) การเรียนการสอนแบบ ON–DEMAND ผ่านทางเว็บไซต์ DLTV  และแอปพลิเคชั่น DLTV บนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต และการเรียนการสอนแบบ ON-HAND สำหรับนักเรียนที่ไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์การรับชม โดยการนำหนังสือ แบบฝึกหัด ใบงาน ไปเรียนรู้ที่บ้านภายใต้ความช่วยเหลือของผู้ปกครอง ครูผู้สอนจะมีการติดตามผู้เรียนผ่านทางไลน์และโทรศัพท์

              - งดการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่ม และให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุขและสาธารณสุขจังหวัดโดยเคร่งครัด สถานศึกษาจึงจัดการเรียนการสอนในรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้ 1) On-air การเรียนผ่านมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ DLTV  2) On-demand การเรียนผ่านแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ 3) On-line การเรียนผ่านระบบอินเทอร์เน็ต  4) On-hand การเรียนที่บ้านด้วยเอกสาร เช่น หนังสือ แบบฝึกหัด ใบงาน ในรูปแบบผสมผสาน หรืออาจใช้วิธีอื่น ๆ ตามความเหมาะสมกับสภาพปัญหาของแต่ละ กศน.ตำบล

              - ห้องสมุดประชาชน มีจุดคัดกรอง และเจ้าหน้าที่ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย  มีการลงชื่อเข้าใช้บริการ ลงทะเบียนก่อนเข้าและออกจากห้องสมุดโดยใช้แอปพลิเคชั่นไทยชนะ มีเจลแอลกอฮอล์และสบู่ไว้บริหาร หากพบว่ามีไข้สูงเกินกว่า 37.5 องศาเซลเซียส จะไม่อนุญาตให้เข้าห้องสมุด มีการเว้นระยะห่างระหว่างที่นั่งอ่านหนังสือ และที่นั่งปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ห้องสมุดอย่างน้อย 1 เมตร โดยทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อเข้าห้องสมุดตลอดระยะเวลาที่อยู่ในห้องสมุด  โดยปฏิบัติตนตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

                - การายงานตัวของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานว่ามีความเสี่ยงหรือไปในสถานที่เสี่ยงหรือไม่ เป็นประจำทุกวัน รวมถึงการรายงานฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ของบุคลากรทุกคน

               - การปิดบริการของห้องสมุด ตามคำสั่งจังหวัดราชบุรีที่ 2898/2564 เรื่อง มาตรการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับที่ 34 ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม ถึง 2 สิงหาคม 2564 คำสั่งที่ 2983/2564 เรื่อง มาตรการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับที่ 35 และคำสั่งที่ 2984/2564 เรื่อง มาตรการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับที่ 36 ตั้งแต่ 1-31 สิงหาคม 2564 

               - ผู้สอนและผู้เรียนมีการปรับตัวและยอมรับสภาพความเป็นจริงของการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และให้ความร่วมมือด้านการป้องกันตนเองมากขึ้น

          2)  ข้อค้นพบ / ปัญหาอุปสรรค

    - การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ทำให้ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น เนื่องจากโรงเรียนไม่สามารถเปิดทำการสอน On-site ได้ และครูผู้สอนไม่มีอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัย

              - นักเรียนขาดอุปกรณ์การเรียนการสอน เช่น โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ฯ ผู้ปกครองไม่สามารถจัดหาเครื่องมือสื่อสารให้กับนักเรียนได้

              - นักเรียนบางส่วนไม่ได้รับการสนับสนุนให้เรียนออนไลน์เนื่องจากผู้ปกครองให้ช่วยงานบ้านหรือให้ช่วยหารายได้ให้กับครอบครัว

              - นักเรียนขาดความรับผิดชอบ ขาดสมาธิในการเข้าเรียนทางออนไลน์ นักเรียนบางคนไม่เข้าเรียนออนไลน์ตามกำหนด เนื่องจากติดเกม และเหนื่อยล้ากับการเรียนออนไลน์  ไม่มีที่ปรึกษาในการทำใบงานหรือใบกิจกรรม

          - ครูและบุคลากรยังขาดความรู้ในการใช้เทคโนโลยี และแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ในการสอน

              - ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลและสอนนักเรียน เนื่องจากมีภาระเรื่องการทำงาน

                         - การจัดกิจกรรมของสำนักงาน กศน. มีปัญหามากในกลุ่มนักศึกษาที่ไม่มีความพร้อมด้านการเรียนแบบออนไลน์ เช่น นักศึกษากลุ่มผู้สูงอายุ นักศึกษากลุ่มที่ไม่มีอินเตอร์เน็ตที่บ้าน เป็นต้น

          3)  วิธีการแก้ไขปัญหา ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามประเด็นนโยบาย

    - ครูผู้สอนใช้คอมพิวเตอร์และสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากโรงเรียน หรือเสียค่าใช้จ่ายส่วนตัวเพื่อซื้ออุปกรณ์ในการจัดการเรียนการสอน

          - ครูผู้สอนปรับการใช้สื่อการเรียนการสอน วิธีการสอนให้ตรงตามบริบทของแต่ละครอบครัวให้ตรงตามความต้องการของผู้เรียน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้เรียนให้เรียนรู้ด้วยตนเองให้มากขึ้น 

                        - ครูควรให้การบ้านตรงตัวชี้วัดที่ต้องรู้มากกว่าตัวชี้วัดที่ควรรู้ และมีการจดบันทึกหลังสอนทุกครั้ง เพื่อแก้ปัญหาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ  โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและความสามารถของผู้เรียนเป็นสำคัญ

                        - ครูควรวิเคราะห์จำแนกตัวชี้วัดต้องรู้ และตัวชี้วัดควรรู้ที่สามารถบูรณาการได้ทั้งในกลุ่มสาระการเรียนรู้เดียวกันและต่างกลุ่มสาระการเรียนรู้ เพื่อนำมาวางแผนพัฒนาผู้เรียน

          - การจัดการเรียนการสอนสำหรับกลุ่มนักศึกษาผู้สูงอายุ ให้เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร สำหรับนักศึกษากลุ่มที่ไม่มีอินเตอร์เน็ตที่บ้าน ให้หมุนเวียนกันมาใช้บริการอินเทอร์เน็ต ณ กศน.ตำบล หรือเรียนรู้ด้วยรูปแบบอื่น ๆ ตามความสะดวกของนักศึกษาแต่ละบุคคล

             - มอบหมายครูที่ปรึกษาค้นหาและติดต่อผู้เรียนและผู้ปกครองที่ขาดความพร้อมในการเรียนออนไลน์  โดยสถานศึกษาจะเข้าไปสนับสนุนและมอบทุนการศึกษาต่อไป

          4)  ข้อเสนอแนะต่อผู้บริหาร ในการดำเนินการตามประเด็นนโยบาย

                       - ควรให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนครูด้านกำลังใจ และด้านอุปกรณ์การจัดการเรียนการสอน ควรมีนโยบายให้ครูปฏิบัติงานโดยสามารถนำมาใช้ในการประเมินวิทยฐานะได้ เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาชีพ

                        - ส่งเสริมให้สถานศึกษาจัดทำแหล่งคลังความรู้ของสถานศึกษา  เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับนักเรียนในการศึกษาค้นคว้าเรียนรู้ตามอัธยาศัยได้

                       - การสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ให้แก่ครูและนักเรียนทุกคน

          5)  ปัจจัยความสำเร็จ

                       - ครูมีการพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนที่ทันสมัย และเข้าถึงผู้เรียนได้หลากหลายช่องทาง และสามารถเป็นต้นแบบในการพัฒนาสื่อ นวัตกรรมให้กับครูผู้สอนอื่นได้

                  - การจัดการประชุม PLC ระบบทางไกลผ่านแอพพลิเคชั่น google meet กับโรงเรียนในสังกัดทุกแห่ง เพื่อรับฟังแนวทางการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และร่วมกันหาวิธีการแก้ไขปัญหาของโรงเรียน แลกเปลี่ยนวิธีการที่ดี  โรงเรียนสามารถนำแนวปฏิบัติที่ดีไปปรับใช้ในโรงเรียนของตนเองได้  ทำให้เกิดองค์ความรู้และแนวทางในการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เป็นแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ  เป็นแบบอย่างแก่โรงเรียนอื่นได้

                 - การแก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอนในแต่ละชั้นเพื่อให้สอดคล้องตามบริบทของนักเรียนรายบุคคล

                  - การบูรณาการตัวชี้วัด และการให้งาน การบ้าน เพื่อไม่ให้นักเรียนต้องรับภาระจากการบ้านที่มากเกินไป 

                 - การสอนใช้รูปแบบวิธีการหลากหลายแบบผสมผสาน มีการสำรวจความพร้อมจากผู้ปกครองก่อนเลือกรูปแบบการเรียนการสอนเฉพาะบุคคล 

                  - จัดหาวิทยากรภายนอกมาอบรมให้ความรู้แก่ครูเรื่องวิธีการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนในการเรียนออนไลน์  เพื่อให้ครูมีความสามารถในการเลือกใช้วิธีการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลายและเหมาะสมกับกลุ่มนักเรียน  เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ เช่น การใช้ Google Classroom โปรแกรม Zoom เทคนิคการอัดคลิปวีดีโอการเรียนการสอนอย่างง่าย การใช้วีดีโอคอลเพื่อใช้พูดคุยกับนักเรียนสอบถามปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะเรียนออนไลน์ เป็นต้น

                     - พัฒนาคลังสื่อเรียนรู้ออนไลน์ ที่เว็บไซต์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลให้ครูนำสื่อไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม  เผยแพร่คลิปการสอนของครูในสังกัดเพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่เพื่อนครูสามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้

 


 บันทึข้อมูลโดย: นายนิรุทธิ์ อุทาทิพย์