ข้อสรุปของ ข้อสรุปการตรวจราชการของศึกษาธิการภาค บันทึกเมื่อวันที่ Date: 26 พฤษภาคม 2564

รายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายการตรวจราชการและติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (กรณีปกติ) รอบที่ 1 เขตตรวจราชการที่ 3

สรุปผลการตรวจราชการและติดตาม

1. ด้านความมั่นคง

  1.1 การส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงและ  มีคุณธรรม ความเป็นพลเมือง ปลูกฝังความมีระเบียบวินัยโดยกระบวนการลูกเสือและยุวกาชาด

1) ผลการขับเคลื่อนนโยบาย 

1.1) หน่วยงานต้นสังกัดกำหนดนโยบาย มาตรการและแนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา และกิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด โดยน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่มุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน และร่วมกับสถานศึกษาจัดทำแผนการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเพื่อให้ครูผู้สอนนำไปใช้ 

1.2) สถานศึกษาจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนด้วยการปฏิบัติจริงตามอุดมการณ์และหลักสูตรของลูกเสือ เนตรนารีและยุวกาชาด และใช้กระบวนการ PLC ในการแก้ปัญหาการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและใช้กระบวนการลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด  

1.3) ครูผู้สอนใช้กระบวนการลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาดในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมือง ความมีระเบียบวินัย ทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 

1.4) ผู้เรียนมีพัฒนาการทั้งทางกาย สติปัญญา จิตใจและศีลธรรม มีความเป็นพลเมืองดี มีทัศนคติที่ดีต่อบ้านเมือง มีความเข้าใจต่อสถานการณ์ปัจจุบัน มีความรับผิดชอบและช่วยสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสามัคคีและมีความเจริญก้าวหน้า 

2) ข้อค้นพบ/ปัญหาอุปสรรคในการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงและมีคุณธรรม ความเป็นพลเมือง ปลูกฝังความมีระเบียบวินัยโดยกระบวนการลูกเสือและยุวกาชาด

2.1) สถานศึกษาส่วนใหญ่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับงบประมาณในการพัฒนาบุคลากรทางลูกเสือ ขาดแคลนอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดกิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด อีกทั้งผู้บริหารสถานศึกษาบางแห่งขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการดำเนินงานลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด 

2.2) เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒o๑๙       (COVID-19) ทำให้การดำเนินการบางกิจกรรม/โครงการต้องปรับเปลี่ยนกิจกรรม/กลุ่มเป้าหมายตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และตามมาตรการของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือเลื่อนออกไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย 

2.3) สถานศึกษามีการเปลี่ยนแปลงผู้รับผิดชอบงานด้านลูกเสือบ่อย บางแห่งขาดบุคลากรด้านนี้หรือมีจำนวนจำกัด รวมทั้งครูผู้สอนขาดประสบการณ์ไม่เข้าใจหลักการ/แนวทางในการจัดกิจกรรม 

2.4) หลักสูตร/กิจกรรมทางลูกเสือไม่มีการพัฒนาให้มีความทันสมัย ไม่มีความโดดเด่นและไม่เป็นที่นิยม อีกทั้งขาดวิทยากรที่มีความชำนาญในการจัดกิจกรรมลูกเสือและความชัดเจนในเรื่องระเบียบการปฏิบัติของลูกเสือหรือเอกลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นลูกเสือ 

2.5) ผู้เรียนขาดเจตคติที่ดีต่อการเรียนวิชาลูกเสือ-เนตรนารี และ        ยุวกาชาด ทำให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญต่อการเรียนวิชานี้ค่อนข้างน้อย และเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต่อการเรียน และ 2.6) เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID – 19) ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการจัดกิจกรรมให้กับผู้เรียน 

3) ข้อเสนอแนะต่อผู้บริหารในการดำเนินการตามประเด็นนโยบาย

3.1) ข้อเสนอแนะในการปรับปรุง/พัฒนานโยบาย

3.1.1) กระทรวงศึกษาธิการควรกำหนดให้กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาดเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกหน่วยงานต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน พร้อมทั้งกำหนดระเบียบ/แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด และควรมีการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องและจริงจัง 

3.1.2) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดควรส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ทางลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาดอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งควรมีการจัดทำแผนกิจกรรมลูกเสือลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาดให้สอดคล้องเหมาะสม ทันยุคสมัย และมีความเป็นสากล

3.2) ข้อเสนอแนะอื่นๆ ในการดำเนินงานตามนโยบาย

3.21) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการพัฒนาส่งเสริม สนับสนุนให้มีการพัฒนาบุคลากรทางลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาดอย่างสม่ำเสมอ 

3.2.2) กระทรวงศึกษาธิการควรกำหนดอำนาจหน้าที่ ขอบเขต กระบวนการของกิจการลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาดของหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่ให้ชัดเจน 

3.2.3) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับกระทรวงศึกษาธิการและระดับจังหวัดควรพัฒนาค่ายลูกเสือประจำจังหวัดให้มีความพร้อม เพื่อให้สามารถรองรับการจัดกิจกรรมต่างๆ ของผู้มารับบริการทั้งภาครัฐและเอกชน 

2. ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน  

  2.1 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัย โดยการเพิ่มพูนทักษะ (Re-skill) พัฒนาทักษะ (Up skill) และการเรียนรู้ทักษะใหม่ (New skills) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

1) ผลการขับเคลื่อนนโยบาย 

1.1) หน่วยงานต้นสังกัดมีการวางแผนการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัย โดยการเพิ่มพูนทักษะ (Re-skill) พัฒนาทักษะ (Up skill) และการเรียนรู้ทักษะใหม่ (New skills) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และส่งเสริมสนับสนุน นิเทศ กำกับ ติดตามและประเมินผลด้านการให้ความรู้และการออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา 

1.2) สถานศึกษามีการจัดการเรียนรู้สาระการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ (Coding) ในทุกระดับชั้น เพื่อเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเพิ่มพูนทักษะ (Re-skill) พัฒนาทักษะ (Up skill) และการเรียนรู้ทักษะใหม่ (New skills) รวมทั้งมีการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาและส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ไปพร้อมกับการพัฒนานวัตกรรมการศึกษา ทั้งในส่วนของสื่อ อุปกรณ์การเรียนรู้ และเทคนิคการสอน 

1.3) ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาระการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ ออกแบบการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับหลักสูตรสถานศึกษา และเลือกกระบวนการจัดการเรียนรู้ เทคนิค การใช้สื่อ และแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายเหมาะสมกับช่วงวัยให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรม 

1.4) ครูจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะพื้นฐานที่เชื่อมโยงสู่การเพิ่มพูนทักษะ (Re-skill) พัฒนาทักษะ (Up skill) และการเรียนรู้ทักษะใหม่ (New skills) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมอาชีพให้โดยจัดกิจกรรมที่หลากหลายตรงกับความต้องการเหมาะสม 

1.5) ผู้เรียนกำหนดเป้าหมาย วางแผน ฝึกทักษะการคิดแบบมีเหตุผลและลงมือปฏิบัติจริง สรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้ด้วยตนเอง นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ และมีปฏิสัมพันธ์ทำงานทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มและครู 

1.6 ผู้เรียนมีทักษะในการสื่อสาร การใช้ระบบ ICT ระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว มีโอกาสพัฒนาศักยภาพ รู้จักการแก้ปัญหาและการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และการส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสมสำหรับวัยเรียน

2) ข้อค้นพบ/ปัญหาอุปสรรคในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัย โดยการเพิ่มพูนทักษะ (Re-skill) พัฒนาทักษะ (Up skill) และการเรียนรู้ทักษะใหม่ (New skills) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

2.1) ระยะเวลาในการดำเนินงานตามกิจกรรมหรือโครงการกับงบประมาณที่ได้รับไม่สัมพันธ์กัน ทั้งเรื่องระยะเวลาและงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด อีกทั้งสถานศึกษาบางแห่งไม่มีไฟฟ้าใช้ สัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึง ทำให้การติดต่อสื่อสาร ICT และการพัฒนาเทคโนโลยีได้ไม่เต็มตามศักยภาพ 

2.2) สถานศึกษาขนาดเล็กขาดบุคลากรในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน อีกทั้งวัสดุ เครื่องมือและอุปกรณ์ในการฝึกอาชีพไม่เพียงพอและไม่ทันสมัย 

2.3) ครูผู้สอนในสถานศึกษาประถมศึกษาส่วนมากเกือบ 100% ไม่ได้เรียนจบการศึกษาทางสายวิชาชีพ 

2.4) รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ยังคงยึดติดกับเนื้อหาความรู้มากกว่าทักษะกระบวนการ ทำให้ไม่เกิดการพัฒนาด้านทักษะ ประกอบกับผู้ปกครองไม่เข้าใจในความสำคัญของการมีทักษะ ทำให้โรงเรียนต้องตอบสนองผู้ปกครองโดยเน้นเนื้อหามากกว่ากระบวนการ 

2.5) การพัฒนาทักษะความสามารถเฉพาะของผู้เรียนบางส่วน อาจจำเป็นต้องมีบุคลากรหรือวิทยากรให้ความรู้เฉพาะด้าน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

2.6) ผู้เรียนบางคนอยู่นอกพื้นที่ไม่สามารถติดต่อได้ เนื่องจากต้องเดินทางไปกับผู้ปกครองในช่วงปิดภาคเรียน และประสบการณ์ของเด็กในพื้นที่ห่างตัวเมืองยังมีข้อจำกัดในเรื่องของการเลี้ยงดู ทำให้เด็กขาดโอกาสที่จะเข้าหาทักษะใหม่ๆ ในโลกที่เกิดขึ้น 

3) ข้อเสนอแนะต่อผู้บริหารในการดำเนินการตามประเด็นนโยบาย

3.1) หน่วยงานต้นสังกัดควรให้การสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์หรือครุภัณฑ์ที่ช่วยให้มีไฟฟ้าใช้ในสถานศึกษา และอุปกรณ์รับสัญญาณทีวีให้ได้รับความสะดวกมากขึ้น 

3.2) ผู้บริหารสถานศึกษาควรสร้างความตระหนักให้กับครูผู้สอนในการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนเกิดทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21  

   2.2  การจัดการศึกษาแบบทวิศึกษา และห้องเรียนอาชีพสู่การสร้างอนาคตให้ผู้เรียนมีอาชีพและมีงานทำ

1) ผลการขับเคลื่อนนโยบาย 

1.1) หน่วยงานต้นสังกัดมีการส่งเสริม สนับสนุนให้สถานศึกษาจัดการเรียนรู้ และสร้างบรรยากาศสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะอาชีพตามความถนัดของผู้เรียน และสถานศึกษานำนโยบายลงไปสู่การปฏิบัติโดยจัดกิจกรรมส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักเลือกอาชีพให้มีความเหมาะสม ความถนัด ความสามารถ ความสนใจ บุคลิกภาพความต้องการของตนเอง 

1.2) สถานศึกษาจัดให้มีแหล่งเรียนรู้ภายในและภายนอกสถานศึกษา กิจกรรมชมรม กิจกรรมชุมนุม ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ กิจกรรมแสดงความสามารถพิเศษต่างๆ การศึกษาตามกลุ่มสนใจ/วิชาเลือก หลักสูตรระยะสั้น การอบรมเชิงปฏิบัติการ และกิจกรรมค่าย (Camp) เป็นต้น 

1.3) ผู้เรียนได้รับการพัฒนาทักษะอาชีพ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอกสถานศึกษา/สถาบันอุดมศึกษา โดยแบ่งกิจกรรมฝึกทักษะอาชีพ ผู้เรียนมีความเข้าใจและมีสมรรถนะด้านอาชีพตามความสนใจ 

1.4) ผู้เรียนและผู้ปกครองมีความพึงพอใจ และมีเจตคติต่อการเรียนสายอาชีพ

2) ข้อค้นพบ/ปัญหาอุปสรรคในการจัดการศึกษาแบบทวิศึกษา และห้องเรียนอาชีพสู่การสร้างอนาคตให้ผู้เรียนมีอาชีพและมีงานทำ

2.1) การจัดการเรียนรู้และสร้างเสริมบรรยากาศที่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะอาชีพนั้น สถานศึกษามีข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ประกอบกับวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องการใช้สอยประโยชน์นั้นไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดหาได้อย่างคล่องตัวหรือจัดซื้อให้ถูกต้องตามระเบียบค่อนข้างเป็นไปได้ยาก 

2.2) ครูผู้สอนของสถานศึกษาสังกัดอาชีวศึกษาจังหวัด ย้ายสถานที่ปฏิบัติงานบ่อย ทำให้ครูผู้สอนไม่เพียงพอกับการเรียนการสอนในสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาในรูปแบบทวิศึกษา ทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องและครูผู้สอนมีจำนวนชั่วโมงสอนมากเกินไป 

3) ข้อเสนอแนะต่อผู้บริหารในการดำเนินการตามประเด็นนโยบาย

3.1) หน่วยงานต้นสังกัดควรชี้แจง สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ และสร้างเสริมบรรยากาศที่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะอาชีพ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งผู้บริหารสถานศึกษาควรติดต่อประสานงานวิทยากรในสาขาอาชีพอื่นๆ มาให้ความรู้แก่ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงศักยภาพที่เกิดจากการเรียนรู้สู่ชุมชน 

3.2) หน่วยงานต้นสังกัดควรสนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงหอพักนักเรียนของวิทยาลัยการอาชีพ เพื่ออำนวยความสะดวกและแก้ปัญหาในการเดินทางของผู้เรียน

3. ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์

   3.1 การส่งเสริมสนับสนุนให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21

1) ผลการขับเคลื่อนนโยบาย 

1.1) หน่วยงานต้นสังกัดกำหนดนโยบายและวางแผนการขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมสนับสนุนให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 โดยการให้ความรู้ สร้างความตระหนัก ความเข้าใจ ลงมือปฏิบัติ และนิเทศ ติดตามและประเมินผลกับผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา 

1.2) สถานศึกษามีการดำเนินการวิเคราะห์ ปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ชุมชน และเป็นไปตามเป้าหมายหลักสูตรของชาติ โดยมีกิจกรรม/โครงการที่ส่งเสริมความรู้จำเป็นเพื่อให้เกิดทักษะต่างๆ 3Rs8Cs มีการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ ในรายวิชาต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการดำเนินชีวิต  

1.3) ครูผู้สอนมีการวิเคราะห์มาตรฐาน ตัวชี้วัดตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และมีการศึกษารูปแบบการเรียนรู้และพัฒนาการจัดการเรียนการสอน การใช้และผลิตสื่อ พัฒนานวัตกรรมการวัดและประเมินผลการศึกษา การบริหารจัดการในห้องเรียนและการวิจัยทางการศึกษา 

1.4) ครูผู้สอนได้รับความรู้ มีความสามารถและมีประสบการณ์อันจะเป็นแนวทางนำไปสู่การดำเนินงานจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนตามแนวทางทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ 

1.5) ผู้เรียนมีทักษะการคิดวิเคราะห์ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้เรียนต้องใช้กระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง สร้างองค์ความรู้เอง โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หลักการนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องนำมาใช้กับผู้เรียน 

2) ข้อค้นพบ/ปัญหาอุปสรรคในการส่งเสริมสนับสนุนให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21

2.1) งบประมาณและองค์ความรู้ที่สถานศึกษาจะนำมาพัฒนาผู้เรียนยังมีจำกัด รวมทั้งอุปกรณ์บางอย่างไม่พร้อมใช้งาน 

2.2) ขาดครูผู้สอนประจำสาขาที่เป็นข้าราชการประจำและขาดงบประมาณในการจ้างครู 

2.3) ครูผู้สอนบางส่วนขาดความรู้ ความเข้าใจในการบูรณาการจัดการเรียนการสอน และขาดความชำนาญในการเขียนแผนการสอน/การสอนแบบ Active Learning รวมทั้งครูผู้สอนในลักษณะสอนแยกเป็นรายวิชาตามหลักสูตรการศึกษา ส่งผลให้การเรียนการสอนไม่ต่อเนื่อง ขาดความเชื่อมโยงในการนำไปใช้ รวมทั้งการควบคุมชั้นเรียนทำได้ยาก ทำให้ครูใช้เวลาในการสอนเกินเวลา          ที่กำหนด 

2.4) ครูผู้สอนต้องเข้ารับการพัฒนาโดยการอบรมออนไลน์แทนการพัฒนาอบรม           เชิงปฏิบัติการ ซึ่งมีผลต่อการนำความรู้ไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน 

2.5) ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน แก้ปัญหาด้วยตนเอง แต่ขาดการมีส่วนร่วมไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครู ทำให้การเข้าร่วมสังคมของผู้เรียนลดน้อยลง ไม่ค่อยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับสังคมรอบข้าง และ 2.6) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กลับกลายเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะด้านสารสนเทศเพิ่มขึ้น และเป็นการกระตุ้นให้ผู้ปกครองสนใจที่จะมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น แต่พบปัญหาในการจัดการเรียนรู้แบบกลุ่ม

3) ข้อเสนอแนะต่อผู้บริหารในการดำเนินการตามประเด็นนโยบาย

3.1) หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องควรเพิ่มแหล่งเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้เข้าถึงได้อย่างง่าย รวมทั้งอาคารสถานที่ ระบบเครือข่ายโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอย่างทั่วถึง 

3.2) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรลดอัตราส่วนของครูกับผู้เรียน เพื่อให้สามารถดูแลผู้เรียนได้อย่างทั่วถึงและทันเวลา อีกทั้งผู้บริหารสถานศึกษาควรส่งเสริมการเรียนรู้ด้านอาชีพที่เหมาะสมในศตวรรษที่ 21 

3.2 การพัฒนาครูให้มีทักษะความรู้และความชำนาญการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และภาษาอังกฤษ รวมทั้งการจัดการเรียนการสอน (Human Capital Excellence Center : HCEC)

1) ผลการขับเคลื่อนนโยบาย 

1.1) หน่วยงานต้นสังกัดบางแห่งมีการส่งเสริม สนับสนุนให้ครูผู้สอนภาษาอังกฤษ และบุคลากรสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทดสอบวัดความสามารถทางภาษาอังกฤษ (CEFR)  ตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 

1.2) สถานศึกษามีการพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและภาษาอังกฤษให้กับครูและบุคลากร เพื่อส่งเสริมการใช้ภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการสื่อสารของครูและผู้เรียน 

1.3) ครูผู้สอนใช้สื่อเทคโนโลยีประกอบการจัดการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ ครูมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดที่ผ่านมา แต่ภาษาอังกฤษยังไม่ค่อยได้รับการพัฒนาเนื่องจากเป็นเรื่องของทักษะและการฝึกฝนซ้ำ ซึ่งครูไม่ค่อยมีโอกาสมากนัก 

1.4) ครูผู้สอนได้รับการพัฒนาให้มีทักษะประสบการณ์จริงในสถานประกอบการในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง มีความสามารถในการผลิตสื่อดิจิทัล (Digital Content) และการจัดการเรียนการสอนด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ (Digital Learning Platform) อย่างมีคุณภาพ 

2) ข้อค้นพบ/ปัญหาอุปสรรคในการพัฒนาครูให้มีทักษะความรู้และความชำนาญการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และภาษาอังกฤษ รวมทั้งการจัดการเรียนการสอน (Human Capital Excellence Center : HCEC) 

2.1) เนื่องจากเป็นการจัดตั้งศูนย์ครั้งแรก และเป็นการดำเนินงานในระยะที่ 1 ซึ่งให้ดำเนินงานโดยเร่งด่วน ทำให้ศูนย์ HCEC มีเวลาเตรียมการน้อย การจัดหาอุปกรณ์ ห้องคอมพิวเตอร์สำหรับการจัดสอบไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนด รวมทั้งการดำเนินการทดสอบนั้น หน่วยงานส่วนกลางจะติดต่อกับศูนย์ HCEC ของสถานศึกษาโดยตรงเป็นส่วนใหญ่ ทำให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาไม่ทราบข้อมูลบางเรื่องที่จะต้องดำเนินการติดต่อประสานงาน 

2.2) การเข้าใช้ Human Capital Excellence Center : HCEC ครูขาดความเข้าใจในการใช้แพลตฟอร์ม Human Capital Excellence Center : HCEC และขาดการกำกับติดตามอย่างต่อเนื่อง 

2.3) ครูผู้สอนยังไม่มีความกระตือรือร้นในการพัฒนาภาษาอังกฤษของตนเอง ไม่เห็นความสำคัญและด้วยภาระงานสอน/งานประจำที่รับผิดชอบมาก ทำให้การใช้โอกาสฝึกฝนเพิ่มเติมความรู้ภาษาอังกฤษหรือพัฒนาตนเองในด้านนี้มีน้อยมาก 

2.4) อุปกรณ์บางอย่างไม่เพียงพอกับการจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอน อีกทั้งไม่ได้ใช้เป็นประจำและต่อเนื่องทำให้ขาดความชำนาญ ประกอบกับครูผู้สอนบางคนไม่สามารถใช้เทคโนโลยีปฏิบัติงานสอนออนไลน์ได้ และครูผู้สอนบางคนเป็นครูบรรจุใหม่ยังมีประสบการณ์น้อย มีครูย้ายหรือเกษียณอายุราชการทำให้การพัฒนาไม่ต่อเนื่อง 

3) ข้อเสนอแนะต่อผู้บริหารในการดำเนินการตามประเด็นนโยบาย

3.1) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ควรมีหนังสือแจ้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่เกี่ยวข้องทุกเขตโดยตรง หรือจัดให้มีการประชุมเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และเจ้าหน้าที่ศูนย์ HCEC เพื่อทราบวัตถุประสงค์ อำนาจหน้าที่ในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับเขตของตน รวมทั้งกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจนในการพัฒนาภาษาอังกฤษของครู และมีการติดตามผลเป็นระยะอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ 

3.2) หน่วยงานต้นสังกัดควรสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาอุปกรณ์เทคโนโลยีให้เพียงพอสำหรับการจัดการเรียนการสอน และการบริหารจัดการในสถานศึกษา รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณสำหรับพัฒนาครูผู้สอน 

4. ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม

   4.1 การใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ และใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือการเรียนรู้เพื่อพัฒนาด้านการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ (Digital Education Excellence Platform : DEEP)

1) ผลการขับเคลื่อนนโยบาย 

1.1) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ได้นำ Digital Education Excellence Platform (DEEP) มาใช้ประโยชน์ในการจัดการศึกษาของสถานศึกษา อาทิ มีการนำร่องการใช้ Digital Education Excellence Platform (DEEP) เต็มรูปแบบในกลุ่มสถานศึกษาขยายโอกาสทางการศึกษา ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มเป้าหมายของผลการดำเนินการออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา/ครู และผู้เรียน เป็นต้น 

1.2) สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนที่หลากหลายโดยใช้ระบบ (Digital Education Excellence Platform : DEEP) ทำให้ผู้เรียนสามารถติดตามงานที่กำลังดำเนินการ หรือประชุมออนไลน์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ 

1.3) ครูสามารถใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์/ครูผู้สอนและผู้เรียนส่วนใหญ่เข้าถึงการใช้เทคโนโลยีและสื่อการเรียนออนไลน์ ได้แก่ Line Facebook เป็นช่องทางหลักในการสื่อสารเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ 

1.4) ครูและบุคลากรทางการศึกษามีการสมัครใช้ระบบแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ประกอบการเก็บข้อมูลในการประเมินผลความสามารถและต้องได้รับการทดสอบด้านทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารตามมาตรฐาน CEFR 

2) ข้อค้นพบ/ปัญหาอุปสรรคในการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ และใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือการเรียนรู้เพื่อพัฒนาด้านการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ (Digital Education Excellence Platform : DEEP) 

2.1) การดำเนินงานขับเคลื่อนระบบ DEEP จากส่วนกลางขาดความต่อเนื่อง อีกทั้งระบบยังอยู่ระหว่างการพัฒนา ปรับปรุง ยังไม่พร้อมให้บริการ รวมทั้งขั้นตอนการใช้งานยุ่งยากและซับซ้อน 

2.2) การใช้ระบบออนไลน์ของสถานศึกษากับผู้เรียนยังไม่ครอบคลุมตลอดจนการขับเคลื่อนยังไม่ดีเท่าที่ควร ประกอบกับเงื่อนไขในการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลที่ผู้ปกครองจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ บางรายพบปัญหาในการใช้งานของสมาร์ทโฟนพร้อมอินเตอร์เน็ต รวมทั้งผู้ปกครองต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายสูง 

                        3) ข้อเสนอแนะต่อผู้บริหารในการดำเนินการตามประเด็นนโยบาย

3.1) กระทรวงศึกษาธิการควรนำหลักสูตรทั้งของสำนักทดสอบ สทศ./สสวท. มาอยู่ในระบบเดียวกันจะสะดวกต่อการเรียนรู้ของครู เนื่องจากระบบยังไม่ตอบสนองต่อความต้องการของครู 

4.2) ระบบห้องประชุมคอนเฟอเรนซ์ Google Meet เป็นโปรแกรมที่ดีมาก แต่ควรมีการเพิ่มความสามารถของระบบห้องประชุมคอนเฟอเรนซ์ Google Meet ให้สามารถรองรับผู้ใช้งานได้อย่างน้อย 200 – 300 คน ต่อ 1 ห้องประชุม ซึ่งปัจจุบันถูกจำกัดผู้ใช้งาน 100 คน ต่อ 1 ห้องประชุม 

4.2 การจัดการศึกษาเด็กปฐมวัย

1) ผลการขับเคลื่อนนโยบาย 

1.1) หน่วยงานต้นสังกัดมีการพัฒนาครูปฐมวัยและจัดทำแนวทาง/นโยบายเพื่อนำไปใช้ในการจัดประสบการณ์ให้กับผู้เรียนในระดับปฐมวัย รวมทั้งจัดทำนโยบาย มาตรการและแนวทางการดำเนินการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาให้กับผู้บริหารและครูทุกคนในสังกัด 

1.2) ครูใช้สื่อและอุปกรณ์ที่หลากหลาย ส่งผลให้เด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาการเหมาะสมตามวัย มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ โดยครูเป็นผู้สนับสนุนและร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก โดยคำนึงถึงบริบทของตัวเด็กและสังคมรอบตัว

2) ข้อค้นพบ/ปัญหาอุปสรรคในการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัย

2.1) สถานศึกษาส่วนใหญ่เป็นสถานศึกษาขนาดเล็ก บุคลากรมีจำนวนจำกัด จึงส่งผลให้ครูปฐมวัยส่วนใหญ่เป็นอัตราจ้าง ทำให้ต้องมีการพัฒนาเพื่อให้การจัดประสบการณ์ตรงตามหลักสูตรทุกปีงบประมาณ 

2.2) สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นปฐมวัยได้อย่างเต็มที่ และไม่สามารถจัดกิจกรรมการสอนบางกิจกรรมได้ 

3) ข้อเสนอแนะต่อผู้บริหารในการดำเนินการตามประเด็นนโยบาย

3.1) หน่วยงานต้นสังกัดทั้งระดับกระทรวงและระดับพื้นที่ควรส่งเสริมสนับสนุนให้คำปรึกษา แนะนำเกี่ยวกับการดำเนินการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัยให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยทันตามเวลาที่กำหนด รวมทั้งผลักดันการดำเนินงานให้เกิดความต่อเนื่อง  

3.2) หน่วยงานต้นสังกัดระดับกระทรวงควรจัดสรรงบประมาณเพื่อให้การดำเนินงาน มีประสิทธิภาพ

4.3 การเข้าถึงทางการศึกษาสำหรับคนพิการ และผู้ด้อยโอกาส

1) ผลการขับเคลื่อนนโยบาย 

1.1) หน่วยงานต้นสังกัดมีมาตรการแนวทางในการส่งเสริม สนับสนุนให้เด็กพิการเรียนรวมในสถานศึกษาได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและได้รับการพัฒนาอย่างเต็มตามศักยภาพ โดยกำหนดมาตรการ แนวทางและโครงการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสถานศึกษาให้สามารถจัดการศึกษาในรูปแบบการจัดการเรียนรวมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด 

1.2) สถานศึกษาดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาของคนพิการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกับเด็กปกติ มีการคัดกรองนักเรียนพิการ และจัดทำแผนการพัฒนาเด็กพิการแต่ลประเภทอย่างเหมาะสม และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นในการให้ความช่วยเหลือและส่งต่อ

                                   2)   ข้อค้นพบ/ปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงทางการศึกษาสำหรับคนพิการ และผู้ด้อยโอกาส

                                       2.1)      พี่เลี้ยงเด็กพิการไม่มีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับการกระตุ้นพัฒนาการ การดูแลช่วยเหลือและการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของเด็กพิการทั้ง 9 ประเภท เนื่องจากไม่ได้จบตรงสาขาวิชาเอก และครูผู้รับผิดชอบงานการศึกษาพิเศษบางแห่งยังไม่สามารถจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP On line) ในระบบการบริหารจัดการข้อมูลสถานศึกษาเรียนรวม (โปรแกรม SET) ได้ทันช่วงเวลาและเป็นปัจจุบัน

                                       2.2)     ครูที่ผ่านการอบรมการคัดกรองผู้เรียน มีการโยกย้ายสับเปลี่ยนสถานศึกษาบ่อย และการเกษียณอายุราชการทำให้ขาดบุคลากรที่สามารถทำหน้าที่ดังกล่าว บางโรงเรียนไม่มีครูผู้ผ่านการ       คัดกรองบุคคลที่มีความต้องการพิเศษทางการศึกษา จำเป็นต้องอาศัยครูจากสถานศึกษาใกล้เคียงร่วม     คัดกรอง

                                   3)   ข้อเสนอแนะต่อผู้บริหารในการดำเนินการตามประเด็นนโยบาย

                                    3.1)  หน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษาควรเน้นการมีส่วนร่วมและบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยใช้สถานศึกษาเป็นฐาน (SBM) ตลอดจนพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องให้มีคุณภาพและสามารถปฏิบัติงานได้ตามมาตรฐานหรือเกณฑ์ที่กำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ

                                         3.2)       หน่วยงานต้นสังกัดระดับกระทรวงควรจัดสรรอัตรากำลังครูให้เพียงพอเป็นไปตามเกณฑ์ของการศึกษาพิเศษ เพื่อลดภาระงานของครูที่ต้องทำหน้าที่จัดการเรียนการสอนผู้เรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาอื่น และจัดสรรพี่เลี้ยงเด็กพิเศษให้เพียงพอ

 

             5.  ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

                 5.1    การขับเคลื่อนโรงเรียนคุณภาพของชุมชน

                                     1)      ผลการขับเคลื่อนนโยบาย

                                       1.1)  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจัดทำข้อมูลสถานศึกษาที่จะเป็นโรงเรียนคุณภาพของชุมชน และโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ใกล้เคียงที่จะเป็นเครือข่าย พร้อมทั้งคำขอจัดตั้งงบประมาณในการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพของชุมชน

                                     1.2)  ประชุมชี้แจงการบูรณาการด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี พ.ศ. 2564 กับทุกหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ตามแนวทางเกณฑ์การคัดเลือกของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด เพื่อพิจารณาคัดเลือกเป็นโรงเรียนคุณภาพของชุมชน

                                    1.3)   หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่โรงเรียนกลุ่มเป้าหมายในการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนคุณภาพของชุมชนเพื่อดูสภาพจริง และร่วมกันศึกษาบริบทด้านการบริหารจัดการ ด้านงบประมาณ ด้านบริหารบุคลากร ด้านวิชาการ และด้านภาคีเครือข่าย

                                     1.4)  ประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำข้อมูลติดตามการบูรณาการด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี พ.ศ. 2564 และจัดทำแผนบูรณาการการศึกษาจังหวัดกับทุกเขตพื้นที่การศึกษา

                                    1.5) ประชุมเชิงปฏิบัติการสะท้อนข้อมูล (After Action Review : AAR) และสรุปผลการติดตาม ประเมินผลการจัดการศึกษา การบูรณาการด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการจังหวัด

                                   ในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 เขตตรวจราชการที่ 3 มีสถานศึกษานำร่องโรงเรียนคุณภาพของชุมชนที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 9 โรงเรียน ประกอบด้วย (1) จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 4 โรงเรียน (2) จังหวัดราชบุรี จำนวน 2 โรงเรียน และ      (3) จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 3 โรงเรียน

                                   2)   ข้อค้นพบ/ปัญหาอุปสรรคในการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณภาพของชุมชน

                                       2.1)  โรงเรียนคุณภาพของชุมชนเป็นนโยบายใหม่ที่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ คณะผู้ติดตามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนสำนักนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ยังไม่ได้ตกลงอย่างเป็นทางการ ขาดความชัดเจนในเรื่องของนโยบาย อีกทั้งปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ด้านงบประมาณ ด้านการกำหนดโรงเรียนคุณภาพของชุมชนบ่อยครั้ง ทำให้ผู้ปฏิบัติในพื้นที่ (หน่วยงานและสถานศึกษา) ต้องปรับแก้แผนการดำเนินงานและแบบเสนอของบประมาณหลายครั้ง เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดใหม่

                                       2.2)  การดำเนินการโรงเรียนคุณภาพของชุมชน ซึ่งต้องมีการควบรวมสถานศึกษาขนาดเล็กนั้นค่อนข้างเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ด้วยปัจจัยประกอบหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารของสถานศึกษาขนาดเล็กที่เกิดความกังวลว่าหากสถานศึกษาต้องมีการยุบรวมจริงๆ แล้วตนจะต้องทำอย่างไร อีกทั้งยังต้องการที่จะบริหารสถานศึกษาของตนเองเพื่อให้เกิดความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะชุมชนหรือผู้ปกครองบางคนที่ต้องการให้บุตรหลานเรียนที่สถานศึกษาใกล้บ้าน

                                      2.3) การประชาสัมพันธ์ยังไม่ทั่วถึง ผู้ปกครอง ชุมชน ขาดความเข้าใจ ขาดความชัดเจนในนโยบายกับการปฏิบัติ ทำให้เกิดแรงต้านในกรณีชุมชนไม่อยากให้มาเรียนรวม        

                                        2.4) นโยบายการบริหารสถานศึกษาขนาดเล็กของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จะมีการเพิ่มบุคลากรให้กับสถานศึกษา เป็นนโยบายที่ขัดแย้งกับแนวทางการดำเนินงานในเรื่องโรงเรียนคุณภาพของชุมชน

                                        2.5)      ขาดความร่วมมือของผู้บริหารท้องถิ่น คณะกรรมการสถานศึกษา เครือข่าย เนื่องจากเป็นการดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วน ระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนของนโยบายมีระยะเวลาที่จำกัด

                                    2.6)       สถานศึกษาหลักที่พิจารณาคัดเลือกเป็นโรงเรียนคุณภาพของชุมชน ยังไม่มีความพร้อมตามเกณฑ์คุณลักษณะที่กำหนด สำหรับรองรับนโยบาย เช่น ด้านบุคลากร ด้านกายภาพ เป็นต้น

                                   3)   ข้อเสนอแนะต่อผู้บริหารในการดำเนินการตามประเด็นนโยบาย

                                         3.1)       รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ คณะผู้ติดตามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนสำนักนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ควรตกลงเกณฑ์การคัดเลือกตลอดจนนโยบายสู่การปฏิบัติให้ชัดเจน

                                         3.2)       กระทรวงศึกษาธิการควรดำเนินการประสานการทำงานกับกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานตามแนวทางที่กำหนด

 

                         5.2        โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง

                                   1)   ผลการขับเคลื่อนนโยบาย

                                         1.1)       สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาดำเนินการจัดทำข้อมูลสถานศึกษาที่จะเป็นโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง และร่วมกับสถานศึกษาพิจารณาคัดเลือกสถานศึกษาในสังกัดที่มีความเหมาะสมตามเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด เพื่อดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพของกระทรวงศึกษาธิการในการดำเนินการโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง พร้อมทั้งคำขอจัดตั้งงบประมาณในการพัฒนาโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง

                                         1.2)       ประชุมชี้แจงการบูรณาการด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี พ.ศ. 2564 ทุกหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันพิจารณาคัดเลือกสถานศึกษา     นำร่องและดำเนินการในลำดับต่อไป

                                         1.3)       หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่โรงเรียนกลุ่มเป้าหมายในการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมืองเพื่อดูสภาพจริง และร่วมกันศึกษาบริบทด้านการบริหารจัดการ ด้านงบประมาณ ด้านบริหารบุคลากร ด้านวิชาการ และด้านภาคีเครือข่าย       

                                         1.4)       ประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำข้อมูลติดตามการบูรณาการด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี พ.ศ. 2564 และจัดทำแผนบูรณาการการศึกษาจังหวัดกับทุกเขตพื้นที่การศึกษา

                                         1.5)       ประชุมเชิงปฏิบัติการสะท้อนข้อมูล (After Action Review : AAR) และสรุปผลการติดตาม ประเมินผลการจัดการศึกษา การบูรณาการด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการจังหวัด

                                   ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เขตตรวจราชการที่ 3 มีสถานศึกษานำร่องโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง ที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน              3 โรงเรียน ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี และจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดละ 1 โรงเรียน

                                   2)   ข้อค้นพบ/ปัญหาอุปสรรคในการขับเคลื่อนโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง

                                         2.1)       การประชาสัมพันธ์ยังไม่ทั่วถึง ผู้ปกครอง ชุมชนขาดความเข้าใจ ขาดความแน่ชัดในนโยบายกับการปฏิบัติ

                                         2.2)       งบประมาณในการดำเนินการมีข้อจำกัด จึงไม่สามารถนำไปจัดหาอุปกรณ์ในการปฏิบัติกิจกรรมได้อย่างตามที่ต้องการจะพัฒนาได้

                                         2.3)       ขาดความเข้าใจในการดำเนินงานในระยะเริ่มต้นของโครงการ ทำให้ขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ในการกำหนดสถานศึกษาเป้าหมาย

                                   4)   ข้อเสนอแนะต่อผู้บริหารในการดำเนินการตามประเด็นนโยบาย

                                                              กระทรวงศึกษาธิการ ต้องกำหนดนโยบายและแนวทางในการดำเนินงานให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อในพื้นและสถานศึกษาสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ

 

                                      5.3        โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล

                                   1)   ผลการขับเคลื่อนนโยบาย

                                         1.1)       จัดกิจกรรมการเรียนการสอนและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ได้แก่ (1) การปรับปรุงหลักสูตรสถานศึกษา (2) จัดการศึกษาให้ผู้เรียนมีคุณธรรมและมีคุณภาพตามมาตรฐาน เพื่อให้ผู้เรียนทุกคนมีทักษะชีวิต ทักษะความรู้ ทักษะอาชีพ สามารถอยู่ในสังคมได้ (3) ฝึกทักษะด้านภาษาต่างประเทศ เพิ่มภาษาจีนเป็นภาษาที่สาม (4) พัฒนาทักษะการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มุ่งผู้เรียนเป็นสำคัญและเอื้อต่อการสร้างทักษะชีวิตและทักษะวิชาชีพต่อผู้เรียนครูผู้สอน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างหลากหลาย (5) พัฒนาและส่งเสริมให้สถานศึกษาดำเนินโครงการ 1 โรงเรียน 1 นวัตกรรม  (6) ส่งเสริมสนับสนุนการเรียนการสอนในด้านต่างๆ

                                         1.2)       พัฒนาปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่ การพัฒนา จัดหาสื่อวัสดุ อุปกรณ์ และจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้เพื่อการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ

                                         1.3)       บริหารจัดการบุคลากรครู และผู้บริหารโรงเรียนดีต้นแบบระดับตำบลอย่างเหมาะสม เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายภาพความสำเร็จที่กำหนด ได้แก่ (1) วางแผนอัตรากำลังของโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลตามเกณฑ์โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล (2) ส่งเสริมทักษะการสื่อสารและความร่วมมือให้กับผู้บริหารและครู (3) ส่งเสริมการเขียนแผนพัฒนาระดับสถานศึกษา      (4) ส่งเสริมสนับสนุนให้เข้าร่วมการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส (ITA Online) (5) ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้บริหารได้รับการพัฒนาทักษะที่สำคัญและจำเป็นที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ปัจจุบัน

                                         1.4)       จัดเครือข่ายกับโรงเรียนอื่นๆ เพื่อความร่วมมือ และช่วยเหลือกันทางวิชาการ เพื่อทำให้เกิดระบบการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้ได้มากที่สุด ได้แก่ (1) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและหน่วยงานในท้องถิ่น (2) พัฒนาคณะกรรมการสถานศึกษาเพื่อร่วมกันพัฒนาโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล

                                         1.5)       เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในรูปแบบต่างๆ เพื่อระดมสรรพกำลัง ได้แก่    (1) ประสานงานทั้งภาครัฐและเอกชน หน่วยงานของกระทรวงต่างๆ ที่อยู่ในท้องถิ่น เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ/บุคลากรในการให้ความรู้/บุคลากรช่วยจัดกิจกรรมในสถานศึกษา (2) สร้างเครือข่ายการพัฒนา

                                         1.6)       ดำเนินการตามระบบประกันคุณภาพภายในอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้เห็นถึงความก้าวหน้าของการพัฒนาสู่โรงเรียนคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ (1) นิเทศ ติดตามการดำเนินกิจกรรมของโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล (2) ดำเนินงานวิจัยโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล (3) ถอดบทเรียนการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลที่ประสบความสำเร็จ (4) สร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านแนวทางการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล

                                   2)   ข้อค้นพบ/ปัญหาอุปสรรคในการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล

                                         2.1)       บุคลากรของสถานศึกษายังไม่มีความพร้อม บุคลากรบางส่วนคิดว่าเป็นการเพิ่มภาระงาน และขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

                                         2.2)       สถานศึกษาบางแห่งมีข้อจำกัดในการกิจกรรมต่างๆ ตามโครงการ

                                         2.3)       ผู้เรียนส่วนใหญ่มีฐานะยากจนและอยู่ในชุมชนที่มีความเสี่ยงในหลายๆ ด้าน ทำให้เกิดปัญหาในกระบวนการพัฒนา

                                         2.4)       ครูมีภาระงานมากเกินไป ทั้งการสอนและการประเมินคุณภาพสถานศึกษาในรูปแบบและมาตรฐานต่างๆ จากหน่วยงานภายนอก

                                         2.5)           ความไม่ต่อเนื่องของนโยบาย ส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ได้แก่ ความสิ้นเปลืองงบประมาณและทรัพยากร ครูมีภาระเพิ่มขึ้น กิจกรรม/โครงการที่ดีต้องหยุดลงเมื่อนโยบายเปลี่ยน เป็นต้น

                                         2.6)       สถานศึกษายังขาดแคลนงบประมาณในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ครอบคลุมตามแผนพัฒนาของสถานศึกษา

                                   3)   ข้อเสนอแนะต่อผู้บริหารในการดำเนินการตามประเด็นนโยบาย

                                         3.1)       หน่วยงานต้นสังกัดและเขตพื้นที่การศึกษาควรจัดสรรงบประมาณ และงบดำเนินงานให้สถานศึกษาอย่างเพียงพอ และสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษาตามบริบทของแต่ละสถานศึกษา

                                         3.2)       หน่วยงานต้นสังกัดทั้งระดับกระทรวงและพื้นที่ควรสร้างความตระหนักให้แก่บุคลากรในสถานศึกษา เพื่อช่วยกันดำเนินการให้เกิดความต่อเนื่องและจริงจัง

                                         3.3)       กระทรวงศึกษาธิการควรส่งเสริมให้มีการขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลอย่างต่อเนื่องและตลอดไป     

                                         3.4)       สถานศึกษาควรเปิดโอกาสให้ภาคีเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมและสนับสนุนการบริหารจัดการในสถานศึกษาให้มากขึ้น

                                         3.5)       หน่วยงานต้นสังกัดในพื้นที่ควรติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง

                                         3.6)       สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาควรจัดอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจแนวทางการดำเนินงาน ทิศทางการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ในสถานศึกษาทุกแห่ง

                                         3.7)       สถานศึกษาควรเน้นการสร้างให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน สร้างความรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งจะเป็นการสร้างความภูมิใจให้กับทุกคนมากกว่ามุ่งเน้นที่การแข่งขัน

 

                         5.4     โรงเรียนขนาดเล็กที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองหรือ Stand Alone

                                   1)   ผลการขับเคลื่อนนโยบาย

                                         1.1)       สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจัดทำข้อมูลสถานศึกษาที่จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง หรือ Stand Alone พร้อมทั้งคำขอจัดตั้งงบประมาณในการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง หรือ Stand Alone

                                         1.2)       ประชุมชี้แจงการบูรณาการด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี พ.ศ. 2564 กับทุกหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ตามแนวทางเกณฑ์การคัดเลือกของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด เพื่อพิจารณาคัดเลือกเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง หรือ Stand Alone

                                         1.3)       หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่โรงเรียนกลุ่มเป้าหมายในการคัดเลือกให้เป็นการติดตามการดำเนินงานโรงเรียนขนาดเล็กที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง หรือ Stand Alone เพื่อดูสภาพจริง และร่วมกันศึกษาบริบท และความต้องการจำเป็นของโรงเรียน

                                         1.4)       ประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำข้อมูลติดตามการ  บูรณาการด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี พ.ศ. 2564 และจัดทำแผนบูรณาการการศึกษาจังหวัดกับทุกเขตพื้นที่การศึกษา

                                         1.5)       ประชุมเชิงปฏิบัติการสะท้อนข้อมูล (After Action Review : AAR) และสรุปผลการติดตาม ประเมินผลการจัดการศึกษา การบูรณาการด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการจังหวัด

                                   ในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 เขตตรวจราชการที่ 3 มีสถานศึกษานำร่องขนาดเล็กที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง หรือ Stand Alone ที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ       พ.ศ. 2565 จำนวน 3 โรงเรียน ประกอบด้วย (1) จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 2 โรงเรียน และ            (2) จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 1 โรงเรียน

                                   2)   ข้อค้นพบ/ปัญหาอุปสรรคในการขับเคลื่อนโรงเรียนขนาดเล็กที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองหรือ Stand Alone

                                         2.1)       ผู้บริหารและครูเกษียณอายุราชการพร้อมกัน ทำให้ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ครบทุกชั้น

                                       2.2)       ปีการศึกษา 2563 มีสถานศึกษาขนาดเล็กที่จัดการเรียนการสอนโดยใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม แต่ไม่ได้รับจัดสรรอุปกรณ์ DLTV

                                         2.3)       ความไม่พร้อมในการจัดการเรียนการสอน ครูสอนไม่ครบชั้น อุปกรณ์และสื่อที่ใช้การสอนยังด้อยกว่าสถานศึกษาขนาดใหญ่

                                         2.4)       การประชาสัมพันธ์นโยบายยังไม่ทั่วถึง ผู้ปกครอง ชุมชน ขาดความเข้าใจ    ทำให้เกิดแรงต้านจากผู้ปกครองและชุมชน

                                   3)   ข้อเสนอแนะต่อผู้บริหารในการดำเนินการตามประเด็นนโยบาย

                                         3.1)       สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาควรสนับสนุน วัสดุ อุปกรณ์ DLTV ให้กับสถานศึกษาขนาดเล็กที่ยังขาดแคลนอุปกรณ์

                                         3.2)       สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานควรจัดสรรงบประมาณกรณีพิเศษในการพัฒนาสถานศึกษาขนาดเล็ก เพื่อให้สถานศึกษาได้มีศักยภาพในการพัฒนาที่สูงขึ้น

                                         3.3)       กระทรวงศึกษาธิการควรกำหนดนโยบายและแนวทางให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรม เพื่อให้หน่วยงานและสถานศึกษาในพื้นที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ


 

 

ภาพการตรวจราชการ จังหวัดสุพรรณบุรี


 


ภาพการตรวจราชการ จังหวัดราชบุรี


 บันทึข้อมูลโดย: นายสุกิจ บัวแพง นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ ศธภ.3