ข้อสรุปของ ข้อสรุปการตรวจราชการของศึกษาธิการภาค บันทึกเมื่อวันที่ Date: 29 เมษายน 2565

หัวข้อการตรวจกรณีพิเศษ : โครงการความปลอดภัยสถานศึกษา (MOE Safety Center)

๑. การรับรู้และเข้าใจ

๑.         หน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่รับรู้และเข้าใจถึงระบบมาตรฐานความปลอดภัยในสถานศึกษา MOE SAFETY CENTER หรือ SAFE สถานศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่าย ๘ กระทรวง ๒ หน่วยงาน เพื่อดูแลช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา ให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ มีความสุข และได้รับการปกป้อง คุ้มครองความปลอดภัย ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงการเสริมสร้างทักษะให้ผู้เรียนมีความสามารถในการดูแลตนเองจากภัยอันตรายต่างๆ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของสังคม โดยนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาหรือประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงระบบ MOE Safety Center เมื่อมีความรู้สึกไม่ปลอดภัยและมีความประสงค์จะร้องทุกข์ ร้องเรียน หรือเตือนให้ทราบว่าสถานศึกษาแห่งหนึ่งกาลังเกิดภัยอย่างหนึ่งอย่างใดใน ๔ กลุ่มภัย ได้แก่ ๑) ภัยที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงของมนุษย์ (Violence) ๒) ภัยที่เกิดจากอุบัติเหตุ (Accident) ๓) ภัยที่เกิดจากการถูกละเมิดสิทธิ์ (Right) ๔) ภัยที่เกิดจากผลกระทบต่อสุขภาวะทางกายและจิตใจ (Unhealthiness) และสามารถร้องทุกข์ ร้องเรียน หรือเตือน โดยผ่านระบบ
MOE Safety Center ไปยังศูนย์ ความปลอดภัย กระทรวงศึกษาธิการ ใน ๔ ช่องทาง ได้แก่
๑)
www.moesafetycenter.com ระบบ Web App Responsive  ๒) Mobile App : MOE Safety Center ๓) LINE@ : Safety Center ๔) Call Center : ๐ ๒๑๒๖ ๖๕๖๕ เมื่อระบบ MOE Safety Center ได้รับข้อมูลผ่าน ๔ ช่องทางนี้แล้วจะมีเจ้าหน้าที่ดูแลระบบซึ่งเรียกว่า SC : Safety Center ของสถานศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และศูนย์ความปลอดภัย กระทรวงศึกษาธิการ จะรับข้อมูลและดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างความปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา หรือประชาชนทั่วไปว่าระบบ MOE Safety Center สามารถลดขั้นตอน ลดเวลา
มีความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหา และช่วยเหลือ เยียวยา สร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้น ตามมาตรการ ๓ ป ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่
ป้องกัน ปลูกฝัง ปราบปราม

๒.    ส่งเสริม สนับสนุนให้ครูผู้สอนมีความรู้ความเข้าใจในการสร้างภูมิคุ้มกัน พร้อมรับมือ
การเปลี่ยนแปลงและภัยคุกคามรูปแบบใหม่ทุกรูปแบบ

๓.    ถ่ายทอดนโยบายและแนวทางในการดำเนินงานสู่สถานศึกษาในสังกัด โดยจัดให้มีรูปแบบ วิธีการ หรือกระบวนการในการดูแลช่วยแหลือผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ มีความสุข และได้รับการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงการสร้างทักษะให้ผู้เรียนมีความสามารถในการดูแลตนเองจากภัยอันตรายต่าง ๆ

๔.    เร่งสร้างสถานศึกษาปลอดภัยเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นของสังคม และป้องกันจากภัยคุกคามในรูปแบบใหม่และภัยอื่น ๆ โดยมีการวางมาตรการด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้เรียน ครูและบุคลากรในสถานศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ และเร่งพัฒนาบรรจุตัวชี้วัดเรื่องความปลอดภัยให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของสถานศึกษา

                   

๒. การนำนโยบายไปปฏิบัติ

๑.    สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการแจ้งนโยบายและแนวทางในการดำเนินงานและประชาสัมพันธ์ให้สถานศึกษาขับเคลื่อนโครงการความปลอดภัยสถานศึกษา MOE Safety Center

๒.    มีการจัดตั้งศูนย์ความปลอดภัย (MOE Safety Center) และคณะกรรมการประจำศูนย์
เพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยของสถานศึกษา

๓.    แจ้งแนวทางการบริหารจัดการระบบมาตรฐานความปลอดภัย (MOE Safety Center) ให้บุคลากรทางการศึกษาและโรงเรียนในสังกัดทราบ

๔.    ออกตรวจเยี่ยมและกำกับติดตามเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่สถานศึกษา และครูผู้รับผิดชอบให้ทราบแนวทางการดำเนินงานและขั้นตอน วิธีการใช้งาน MOE Safety Center

๕.    จัดส่งคู่มือการใช้งานให้ครูผู้รับผิดชอบได้ศึกษาการใช้งานที่ถูกต้อง และทำแบบทดสอบบุคลากรทางการศึกษา เพื่อวัดความรู้ความเข้าใจและทักษะในการใช้งานแพลตฟอร์มระบบมาตรฐานความปลอดภัย กระทรวงศึกษาธิการ MOE Safety Center

๖.    ส่งเสริม สนับสนุนกิจกรรมในการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม รับมือกับภัยคุกคามประเภทต่างๆ ครบทุกประเภท

๗.    ส่งเสริมให้สถานศึกษาจัดทำคู่มือการดำเนินงานเพื่อความปลอดภัยของผู้เรียนในสถานศึกษา

๘.    แต่งตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยระดับสถานศึกษา

๙.    จัดทำแบบประเมินความปลอดภัยในสถานศึกษา

๑๐.        สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้ลงพื้นที่ให้คำแนะนำ แนวทางการสร้างความปลอดภัยของผู้เรียนในสถานศึกษา เพื่อให้สถานศึกษาทราบถึงแนวทางการดำเนินงานเรื่องความปลอดภัย และตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานความปลอดภัยภายในสถานศึกษา

๑๑.                   แต่งตั้งนักเรียนแกนนำในการรณรงค์ภัยคุกคามประเภทต่างๆ         

 

๔. ปัญหา/อุปสรรค/ข้อจำกัดในการดำเนินการตามนโยบาย

๑.    จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID - 19) ส่งผลให้สถานศึกษาไม่สามารถจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้ ครูผู้สอนไม่สามารถติดตามเฝ้าระวังภัยคุกคาม ที่อาจจะเกิดกับนักเรียนได้ครบทุกคน

๒.    ระบบ MOE Safety Center ยังไม่เสถียร จึงเกิดความล่าช้าในการเข้าใช้งาน

๓.    ครูผู้รับผิดชอบไม่มีความรู้ด้านการใช้งานระบบมาตรฐานความปลอดภัย (Moe Safety Platform)

๔.    สถานศึกษายังขาดการสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์แผนเผชิญเหตุ แนวทาง คู่มือเพื่อความปลอดภัยของผู้เรียนในสถานศึกษา ให้กับครูผู้สอน และผู้เรียน

๕.    ขาดสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ที่มีทันสมัยมาสนับสนุนรับมือกับภัยคุกคามประเภทต่าง ๆ

๖.    ครูและบุคลากรทางการศึกษายังขาดความชำนาญในเรื่องของความรู้และวิธีการจัดการ
ในด้านภัยคุกคามต่างๆ ต้องพึ่งพิงหน่วยงานภายนอกมาเป็นวิทยากรในการให้ความรู้ และแนะนำเรื่องการใช้อุปกรณ์ป้องกันภัยต่าง ๆ

 

๕. ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงนโยบาย

๑.     จัดให้มีบุคลากรที่สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับระบบมาตรฐานความปลอดภัย (MOE Safety Platform)

๒.    ควรจัดสรรงบประมาณสำหรับจัดหาสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ที่มีทันสมัยมาสนับสนุนรับมือกับภัยคุกคามประเภทต่าง ๆ

๓. การนำเสนอเรื่องความปลอดภัย เข้าสู่วาระการประชุมระดับชาติ เพื่อกำหนดให้เป็นมาตรฐานในการดำเนินงาน หรือตัวชี้วัด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง

๔.    ระบบการรายงานความปลอดภัยสถานศึกษาที่จะนำมาใช้กับหน่วยงาน/สถานศึกษา ควรเป็นระบบที่สมบูรณ์ มีความพร้อมในการใช้งาน






 บันทึข้อมูลโดย: นางสาวอัณณ์จิรภา ธนาชัยกุลวัฒน์