ข้อสรุปของ ข้อสรุปการตรวจราชการของศึกษาธิการภาค บันทึกเมื่อวันที่ Date: 07 กันยายน 2564

สรุปการตรวจ ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดยโสธร จ.ยโสธร วันที่ 7 กันยายน 2564

ตรวจราชการจังหวัดยโสธร วันที่ 7 กันยายน 2564  เวลา 13.30 - 16.30 น.

ตรวจราชการศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดยโสธร อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร สังกัด สำนักบริหารการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีผลการดำเนินงาน ดังนี้

การตรวจราชการกรณีปกติ

๑. ด้านความมั่นคง การส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง และมีคุณธรรม ความเป็นพลเมือง ปลูกฝังความมีระเบียบวินัย โดยกระบวนการลูกเสือ และยุวกาชาด     

๒. ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม

การเข้าถึงทางการศึกษาสำหรับคนพิการ และผู้ด้อยโอกาส

   ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดยโสธร จัดการศึกษาในลักษณะศูนย์บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มและเตรียมความพร้อมให้คนพิการ สนับสนุนการเรียนการสอน การจัดสื่อ สิ่งอำนวยความสะดวกการให้บริการและความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

๑. กลุ่มนักเรียนพิการ ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดยโสธร

     มีการจัดการศึกษาในลักษณะศูนย์บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มและเตรียมความพร้อมให้คนพิการ กลุ่มเป้าหมาย ๙ ประเภทความพิการ รวม ๒๐๘ คน  ได้แก่ บุคคลที่มีความบกพร่องทางการเห็น บุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน บุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา บุคคลที่มีความบกพร่องทางกายหรือการเคลื่อนไหวหรือสุขภาพ บุคคลที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ บุคคลที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา บุคคลที่มีความบกพร่องทางพฤติกรรมหรืออารมณ์ บุคคลออทิสติก และบุคคลพิการซ้อนศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดยโสธร ให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มและเตรียมความพร้อมเด็กพิการ ฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิการที่มารับบริการในศูนย์การศึกษาพิเศษ ประเภท ไป - กลับ ที่รับบริการนอกศูนย์การศึกษาพิเศษ ประเภทหน่วยบริการ ทั้งหมด ๗ หน่วยบริการ และ    ที่บ้าน ทั้งหมด ๙ อำเภอ โดยแบ่งครูผู้สอนรับผิดชอบตามพื้นที่อำเภอ เพื่อให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มและเตรียมความพร้อมเด็กพิการ ฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิการที่มารับบริการ ในศูนย์การศึกษาพิเศษ ประเภท ไป - กลับ

. กลุ่มนักเรียนพิการ สังกัดศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล

     ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดยโสธร ให้บริการทางการศึกษาแก่เด็กเจ็บป่วยที่อยู่ในวัยเรียน และเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพื่อเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กกลุ่มนี้ให้ครอบคลุม เปิดรับสมัครเด็กเข้าเรียนตลอดปีการศึกษาไม่มีปิดภาคเรียน ให้บริการเด็กที่เข้ารับบริการตามโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาลยโสธร การจำแนกกลุ่มเด็กป่วยในวัยเรียน แบ่งเป็น ๒ กลุ่ม ได้แก่ ๑.กลุ่มเด็กป่วยที่เรียนในสถานศึกษาแล้ว แบ่งเป็น ๒ กลุ่ม ๑) กลุ่มเด็กเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง  ๒) กลุ่มเด็กเจ็บป่วยด้วยโรคทั่วไป ๒. กลุ่มเด็กที่ไม่ได้เรียน   ในสถานศึกษา แบ่งเป็น ๓ กลุ่ม ดังนี้  ๑) กลุ่มเด็กเจ็บป่วยที่ยังไม่ได้เข้าเรียนหรือยังไม่ถึงเกณฑ์เรียน  ๒) กลุ่มเด็กเจ็บป่วยที่เรียนจบชั้นประถม/มัธยมแล้วและไม่ได้เรียนต่อ ๓) กลุ่มเด็กเจ็บป่วยลาออกจากโรงเรียนกลางคัน

      กิจกรรมการเรียนการสอน ทั้งหมด ๔ กิจกรรม ได้แก่  ๑) การเรียนรู้ด้านวิชาการ เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามสาระการเรียนรู้ ๘ สาระ  ๒) กิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดี  ๓) กิจกรรมการกระตุ้นพัฒนาการทางด้านร่างกายและการดูแลตนเองในการดำเนินชีวิตประจำวัน  ๔) กิจกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ

๓. กลุ่มนักเรียนพิการเรียนรวม สังกัดห้องเรียนคู่ขนานสำหรับบุคคลออทิสติก โรงเรียนบ้านตาดทอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายโสธร เขต ๑

      ห้องเรียนคู่ขนานสำหรับบุคคลออทิสติก โรงเรียนบ้านตาดทอง จังหวัดยโสธร จัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามตารางกิจกรรมประจำวัน กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ วิชาภาษาไทย วิชาคณิตศาสตร์ วิชาวิทยาศาสตร์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม วิชาประวัติศาสตร์ วิชาสุขศึกษาและพละศึกษา วิชาศิลปะ วิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี วิชาภาษาอังกฤษ วิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร วิทยาการคำนวณ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ได้แก่ ลูกเสือ เนตรนารี ชมรม ชุมนุม ได้แก่ ทักษะพฤติกรรมหรืออารมณ์ ทักษะการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน ทักษะการรับรู้และการเคลื่อนไหว ทักษะทางสังคม ทักษะทางอาชีพ และทักษะภาษาและการสื่อสาร

๔. กลุ่มนักเรียนพิการเรียนรวม สังกัดสำนักงานเขตพื้นการศึกษาประถมศึกษายโสธร และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาศรีสะเกษ ยโสธร

    ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดยโสธร ให้บริการนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนเรียนรวม การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ ความสามารถและทักษะในการพัฒนาสมรรถภาพนักเรียนพิการเรียนรวมในแต่ละประเภทความพิการ นักเรียนเรียนรวมได้รับสิทธิและโอกาสที่เท่าเทียมในการได้รับการพัฒนาการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพเป็นรายบุคคล โครงการ/กิจกรรม ปีการศึกษา ๒๕๖๔ ได้แก่ โครงการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาเรียนรวม

5. ความปลอดภัยของผู้เรียน

    ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดยโสธร ระบบดูและช่วยเหลือผู้เรียน ให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและเหมาะสมตามประเภทความพิการ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักเรียน โดยจัดให้มีโครงการบริหารจัดการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในสถานศึกษา การเตรียมความพร้อมของบุคลากรในการรับมือภัยพิบัติ จัดทำแผนอพยพฉุกเฉินเฉพาะบุคคลสำหรับนักเรียนพิการ ทำป้ายประชาสัมพันธ์มาตรการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในสถานศึกษา จัดอบรม จัดซ้อมแผนอพยพ เพื่อให้ครูและบุคลากรได้รับความรู้ มีความเข้าใจและเกิดทักษะในการอพยพฉุกเฉินเป็นเบื้องต้น และสามารถประเมินความเสี่ยงได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ซ่อมแซม และบำรุงรักษา อาคารเรียนให้อยู่ในสภาพที่ดี อาคารออกแบบตามมาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพการก่อสร้าง มีการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคและระบบสุขาภิบาล เช่น ระบบประปา ไฟ้ฟ้า น้ำดื่ม และมีสิ่งอำนวยความสะดวกในโรงเรียนสำหรับ   ผู้พิการ ทุกคนตลอดเวลา

การตรวจราชการกรณีพิเศษ

    ๑. การจัดการเรียนการสอนและมาตรการป้องกันในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ
ไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙
(COVID-19) ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดยโสธร ได้ดำเนินการตามประกาศจังหวัดยโสธร นโยบายของรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด – 19)โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียน การคัดกรองทุกคน กำหนดจุดวัดอุณหภูมิ จุดล้างมือ ป้ายประชาสัมพันธ์
ในรูปแบบต่าง ๆ

    ให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID - 19) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อย่างเคร่งครัด และได้ดำเนินการมอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ปกครองนักเรียนที่ได้รับผลกระทบในเบื้องต้น


ปัญหาอุปสรรค

(๑) นักเรียนพิการส่วนใหญ่ในพื้นที่ให้บริการเป็นเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหวหรือสุขภาพ บุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา และมีสภาพความพิการที่รุนแรง

(๒) ข้อจำกัดสภาพความพิการของนักเรียนไม่เอื้อต่อการฟื้นฟูสมรรถภาพและการเตรียมความพร้อม

(๓) การนัดหมายผู้ปกครองนำนักเรียนในการมารับบริการแต่ละวันไม่เป็นไปตามกำหนดการเดินทางมีความลำบาก

(๔) ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล(IEP)แต่ขาดความต่อเนื่อง

(๕) อาคารสถานที่ของหน่วยบริการไม่เอื้อต่อการให้บริการ

(๖) มีข้อจำกัดในการติดต่อประสานงานกับผู้ปกครอง

(๗) ความปลอดภัยและสวัสดิภาพของบุคลากรในการออกพื้นที่

(๘) การจัดการเรียนการสอนออนไลน์เด็กพิการมีอุปสรรคในการจัดการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือ สื่อสาร เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยสามารถเข้าถึงง่าย สื่อ สิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมสำหรับประเภทความพิการ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และความพร้อมของผู้เรียน และผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลานระหว่าง  การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนออนไลน์ที่บ้าน

ข้อเสนอแนะ

(๑) ควรจัดงบประมาณมาให้หน่วยบริการเพิ่มมากขึ้นเพื่อความสะดวกต่อการมารับบริการของเด็กพิการของอำเภอนั้น ๆ (เพิ่มงบประมาณ/ตำแหน่งพี่เลี้ยงเด็กพิการ)

(๒) ควรจัดสวัสดิการประกันชีวิต เพื่อความปลอดภัยของครูและบุคลากรเนื่องจากต้องมีการเดินทางออกให้บริการเด็กพิการที่บ้านและหน่วยบริการ

(๓) อบรมครูและบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการนำรูปแบบกระบวนการให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม (Early intervention) และเตรียมความพร้อม ไปสู่การปฏิบัติตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษของศูนย์การศึกษาพิเศษ และโปรแกรมพัฒนาทักษะการดำรงชีวิตสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษของศูนย์การศึกษาพิเศษ

(๔) อบรมครูและบุคลากรให้สามารถแก้ปัญหาของเด็กพิการด้วยกระบวนการงานวิจัยในชั้นเรียน

(๕) อบรมครูให้มีองค์ความรู้ด้านการจัดการศึกษาพิเศษอย่างต่อเนื่องให้มีผลงานด้านวิชาการ

(๖) พัฒนาครูและบุคลากรให้มีความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานของศูนย์การศึกษาพิเศษตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ

(๗) ประสานการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ในการบูรณาการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการในจังหวัด

(๘) พัฒนารูปแบบการสื่อสารเพื่อการประสานการทำงานที่มีประสิทธิภาพ

(๙) วิจัยรูปแบบกระบวนการให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม (Early intervention) และเตรียมความพร้อม เพื่อนำผลสรุปผลการดำเนินงานและนำสภาพปัญหามาใช้ในการปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยใช้กระบวนการวิจัยเป็นฐาน

(๑๐) พัฒนารูปแบบกระบวนการให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม (Early intervention) และเตรียมความพร้อม ในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาพิเศษของศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดยโสธร 

(๑๑) การมีส่วนร่วมหรือความร่วมมือของผู้ปกครองการจัดการศึกษาพิเศษอย่างต่อเนื่อง ตามรูปแบบกระบวนการให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม (Early intervention) และเตรียมความพร้อม

ข้อเสนอแนะของผู้ตรวจราชการ

     การจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ควรจะจัดการเรียนการสอนแบบ On site แต่เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันต้องจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามบริบทของพื้นที่ ให้เป็นไปตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ซึ่งต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
























 

 











 บันทึข้อมูลโดย: น.ส.สุกัลยา ประเสริฐ และ น.ส.อัญญารัตน์ รัตนา