ข้อสรุปของ ข้อสรุปการตรวจราชการของศึกษาธิการภาค บันทึกเมื่อวันที่ Date: 29 เมษายน 2565

หัวข้อการตรวจกรณีพิเศษ : โรงเรียนคุณภาพ

๑. การรับรู้และเข้าใจ

๑.    ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถานศึกษากลุ่มเป้าหมาย                          ตามวัตถุประสงค์ของการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณภาพของกระทรวงศึกษาธิการ โดยการจัดประชุมโรงเรียนคุณภาพชุมชนและโรงเรียน Stand Alone เพื่อชี้แจงโครงการโรงเรียนคุณภาพและการสร้างเครือข่ายทรัพยากรร่วมกัน เพื่อแก้ไขประเด็นปัญหา ดังนี้

                             - ลดความเหลื่อมล้ำ

                             - สร้างเครือข่ายทรัพยากรร่วมกัน

                             - สร้างความมั่นใจคุณภาพของโรงเรียน

๒.      สร้างช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างโรงเรียนเครือข่ายและโรงเรียนคุณภาพเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายและการดำเนินงาน

๓.      เข้าร่วมการอบรม/ประชุม เกี่ยวกับโครงการโรงเรียนคุณภาพทุกครั้ง พร้อมทั้งนำข้อมูลจากการเข้าร่วมการอบรม/ประชุม ขยายผลให้โรงเรียนคุณภาพและโรงเรียนเครือข่ายทราบ

๔.      ดำเนินการชี้แจงผู้ปกครอง ชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่รับรู้เข้าใจ และให้การสนับสนุนในการดำเนินงาน

๒. การนำนโยบายไปปฏิบัติ

๑.    แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกและบริหารจัดการโรงเรียนคุณภาพของชุมชน

๒.    ดำเนินการลงพื้นที่สำรวจเพื่อเตรียมความพร้อม จัดทำแผนที่ข้อมูลโรงเรียนในสังกัด กำหนดพิกัดที่ตั้งและระยะทางการเดินทางระหว่างแต่ละโรงเรียน ข้อมูลพื้นที่โรงเรียน จำนวนนักเรียน ครู ลงบนแผนที่ และคัดเลือกโรงเรียนที่มีความพร้อมเป็นโรงเรียนคุณภาพตามแนวทางการคัดเลือกโรงเรียนคุณภาพที่ สพฐ. กำหนด

๓.    ผู้บริหารโรงเรียนคุณภาพและโรงเรียนเครือข่ายแต่ละแห่ง ดำเนินการประชุมสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับโรงเรียนคุณภาพให้คณะครูทราบ พร้อมทั้งวางแผนการดำเนินการร่วมกัน

๔.    ทำ MOU ระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียนคุณภาพ และ โรงเรียนเครือข่าย

๕.    โรงเรียนคุณภาพ และโรงเรียนเครือข่ายประชุมชี้แจงและทำความเข้าใจกับคณะกรรมการสถานศึกษาผู้ปกครอง ชุมชน และผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับนโยบายโรงเรียนคุณภาพ

๖.    โรงเรียนคุณภาพ และโรงเรียนเครือข่าย ดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาตามนโยบาย ๘ จุดเน้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

 ๓. ข้อมูลผลการขับเคลื่อน

          โรงเรียนคุณภาพ ระดับประถมศึกษา

๑.      โรงเรียนวัดสนามจันทร์ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต ๑
เรียนร่วม ๑๐๐
% จำนวน ๑ แห่ง ได้แก่ โรงเรียนวัดคลองบ้านโพธิ์

๒.     โรงเรียนวัดทุ่งสะเดาประชาสรรค์ อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา

สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต ๒
เรียนร่วม ๑๐๐% จำนวน ๑ แห่ง ได้แก่ โรงเรียนวัดวังกะจะ

๓.     โรงเรียนบ้านหนองเขิน (อินทรวิชัยบำรุง) อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี

สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต ๑

เรียนร่วมบางรายวิชากับโรงเรียนเครือข่าย จำนวน ๔ แห่ง ได้แก่ 
โรงเรียนวัดหนองชันจันทนาราม โรงเรียนบ้านบึงกระโดน (ศิริสิงห์อุปถัมภ์)  โรงเรียนวัดอรุณรังษี และโรงเรียนวัดหนองบอนแดง โดยดำเนินการใช้ทรัพยากรครูผู้สอนวิชาภาษาอังกฤษร่วมกัน

๔.     โรงเรียนวัดตโปทาราม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต ๓

เรียนร่วมบางรายวิชากับโรงเรียนเครือข่าย จำนวน ๓ แห่ง ได้แก่ 
โรงเรียนบ้านทางตรง โรงเรียนวัดเขาฉลาก และโรงเรียนบ้านห้วยกรุ

๕.     โรงเรียนบ้านสามแยกน้ำเป็น อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง

สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต ๒

-          เรียนร่วม ๑๐๐% จำนวน ๒ แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านน้ำเป็น และโรงเรียนบ้านเหมืองแร่

-          เรียนร่วมบางรายวิชา ๓ แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านเนินสุขสำรอง  โรงเรียนบ้านมาบช้างนอน และโรงเรียนบ้านน้ำใส

          สถานศึกษาที่เป็นโรงเรียนคุณภาพมีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานของสถานศึกษาในการเป็นโรงเรียนคุณภาพ รวมถึงการบริหารจัดการพาหนะรับส่ง ผู้บริหารสถานศึกษามีการส่งเสริมให้ครูผู้สอนมีทักษะ Active Learning และครูผู้สอนทุกคนผ่านการอบรม Active Learning

 

๔. ปัญหา/อุปสรรค/ข้อจำกัดในการดำเนินการตามนโยบาย

๑.      การใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างโรงเรียนคุณภาพหลักและโรงเรียนเครือข่ายผู้ปกครองบางส่วนยังมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยในการเดินทาง นอกจากนี้การทำความเข้าใจกับชุมชนเป็นไปค่อนข้างยาก เนื่องจากผู้ปกครองไม่เห็นด้วยกับการที่ผู้เรียนจะต้องเดินทางไกลบ้าน

๒.      การกำหนดแผนเดิมโรงเรียนที่มีผู้เรียนไม่ถึง ๔๐ คน จะต้องมีการควบรวม แต่ไม่สามารถทำตามแผนได้ สาเหตุเกิดจากการที่ผู้ปกครองและชุมชนไม่สนับสนุนนโยบายดังกล่าว

๓.      เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) ทำให้การดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของสถานศึกษาไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่

๔.      จัดหาครูผู้สอนชาวต่างชาติไม่ได้ เนื่องจากเป็นการจ้างระยะสั้น และคุณสมบัติของผู้สมัคร       ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งไว้ค่อนข้างสูง

๕.      สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจัดการอบรม โดยให้โรงเรียนคุณภาพส่งบุคลากรในโรงเรียนเข้ารับการอบรมต่อเนื่องหลายครั้งและหลายคน แต่ละครั้งใช้เวลานาน ทำให้ครูผู้สอนดำเนินการจัดการเรียนการสอนได้ไม่เต็มที่

๖.      จำนวนบุคลากรในโรงเรียนคุณภาพมีจำนวนจำกัด ไม่ครบตามกลุ่มสาระวิชาเอก

๗.      ขาดความชัดเจนในการให้คำจำกัดความของโรงเรียน Stand Alone ทำให้ไม่สามารถจัดโรงเรียนให้อยู่ในกลุ่มโรงเรียน Stand Alone ได้ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

๘.      ขาดความชัดเจนของขั้นตอนและวิธีการดำเนินงานในระยะแรก ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในทิศทางการดำเนินงานและเป้าหมายของโครงการ รวมถึงการสั่งการจากหลายฝ่าย มีความซ้ำซ้อน ขาดความเป็นเอกภาพ

๙.      ขาดบุคลากรที่มีความชำนาญในการวางผังอาคารสถานที่และเขียนแบบ (Model) ของสถานศึกษา

๑๐.  งบประมาณที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานแจ้งให้สถานศึกษาดำเนินการจัดทำคำขอในปีงบประมาณมาล่าช้า ทำให้สถานศึกษาไม่สามารถดำเนินการใช้จ่ายงบประมาณได้ทันกำหนดเวลา

 

๕. ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงนโยบาย

๑.      ควรปรับปรุงระเบียบถ้านักเรียนต่ำกว่า ๒๐ คน ควรให้อำนาจเขตพื้นที่ดำเนินการโดยไม่ต้องผ่านคณะกรรมการสถานศึกษาหรือชุมชน

๒.      ในการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างโรงเรียนหลักและโรงเรียนเครือข่าย ควรจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนเครือข่ายในกรณีที่ โรงเรียนเครือข่ายต้องจัดทำโครงการทัศนศึกษาเพื่อไปใช้ทรัพยากรร่วมกับโรงเรียนหลัก

๓.      สนับสนุนบุคลากรให้ครบกลุ่มสาระ และบุคลากรอื่น ๆ เช่น เจ้าหน้าที่ธุรการ

๔.      สนับสนุนยานพาหนะเพื่อบริการรับส่งผู้เรียนจากโรงเรียนเครือข่าย

๕.      ควรมีการประชุมเกี่ยวกับแนวปฏิบัติให้แก่ผู้ปฏิบัติและสถานศึกษาทราบอย่างสม่ำเสมอ และจัดทำประกาศอย่างเป็นทางการให้สถานศึกษาทราบ

 




 บันทึข้อมูลโดย: นางสาวอัณณ์จิรภา ธนาชัยกุลวัฒน์