ข้อสรุปของ ข้อสรุปการตรวจราชการของศึกษาธิการภาค บันทึกเมื่อวันที่ Date: 05 กุมภาพันธ์ 2565

สรุปการดำเนินการตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โรงเรียนน้ำอ้อมรัฐประชานุสรณ์

          โรงเรียนน้ำอ้อมรัฐประชานุสรณ์ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาศรีสะเกษ เขต 4 จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลปีที่ 2 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนและการดำเนินการตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภาคเรียนที่ 2/2564 โดยโรงเรียนได้มีการวางแผนการเปิดภาคเรียนร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยการจัดประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้นำชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดนโยบายการปฏิบัติตามมาตรการการปอ้งกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานศึกษา รวมทั้งสร้างเครือข่ายการประสานงาน เพื่อดำเนินการควบคุมดูแลและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีการจัดสถานที่รับประทานอาหาร โดยเน้นความสะอาด ถูกสุขอนามัย และมีการเว้นระยะห่าง ทำสัญญลักษณ์แสดงจุด ตำแหน่งที่ชัดเจน ในการเว้นระยะห่างระหว่างกัน มีอ่างล้างมือ มีการจัดวางเจลแอลกอฮอล์สำหรับใช้ทำความสะอาดมือ โรงเรียนได้มีการจัดเตรียมความพร้อมไว้ หากเกิดกรณีฉุกเฉิน และมีการซักซ้อมอย่างเคร่งครัด สม่ำเสมอ หากพบผู้ติดเชื้อ หรือพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง สถานศึกษาต้องมีความพร้อมในเรื่องสถานที่ วัสดุ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ระบบขนส่ง ระบบการประสานงานตรงกับบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ รวมทั้งการสร้างการรับรู้ข่าวสารภายใน การคัดกรองเพื่อแบ่งกลุ่มนักเรียน ครูและบุคลากรในสถานศึกษา

          แนวปฏิบัติการเตรียมการก่อนเปิดภาคเรียน

          โรงเรียนน้ำอ้อมรัฐประชานุสรณ์ตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมการก่อนเปิดเรียน เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตนของนักเรียน ครู บุคลากร และผู้เกี่ยวข้อง  ทุกคนในนสถานศึกษา เพื่อป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อโรคโควิด 19 (COVID-19) ตัดความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกัน และสร้างความปลอดภัยแก่ทุกคน โรงเรียนกำหนดแนวทางในการปฏิบัติ ดังนี้

         1. การประเมินความพร้อมก่อนเปิดเรียน  ประเมินตนเองในระบบ Thai Stop Covid Plus ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเรียน ประกอบด้วย 6 มิติ 44 ข้อ โรงเรียนประเมินผ่านมาตรฐาน

         2. รายงานผลการประเมินตนเองในระบบ Thai Stop Covid Plus ต่อที่ประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อขอความเห็นชอบในการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 แบบ On-site ในวันที่ 25 ตุลาคม 2564

        3. เสนอเอกสารการประเมินตนเองและความเห็นของการเปิดเรียนของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และเอกสารข้อมูลจำนวนครู บุคลากรทางการศึกษา และจำนวนนักเรียนที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่ประสงค์รับการฉีดวัคซีน เสนอต่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ภายในวันที่ 25 ตุลาคม 2564 เพื่ออนุญาตต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาอนุมัติการเปิดเรียนในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564

         4. รณรงค์ครูและบุคลากรในสถานศึกษารับการฉีดวัคซีน ร้อยละ 85 ขึ้นไป รวมทั้งผู้ปกครองนักเรียนได้รับการฉีดวัคซีนให้มากที่สุดก่อนเปิดภาคเรียน

         5. ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนต้องได้รับการตรวจ ATK ครบทุกคน

         6. เตรียมความพร้อม อาคารสถานที่ ความสะอาดบริเวณของสถานศึกษาให้มีความพร้อมในการเปิดภาคเรียน รวมทั้งสื่อเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้พร้อมในการจัดการเรียนการสอน


 บันทึข้อมูลโดย: นางสาวสุกัลยา ประเสริฐ