ข้อสรุปของ ข้อสรุปการตรวจราชการของศึกษาธิการภาค บันทึกเมื่อวันที่ Date: 28 กุมภาพันธ์ 2565

รายงานสรุปผลการตรวจราชการฯ ระหว่างวันที่ 21-23 ก.พ.65 ณ จ.สตูล และตรัง

ตามที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ(นายธฤติ ประสานสอน) ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการตามนโยบายการตรวจราชการและติดตาม ประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ กรณีปกติ รอบที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ระหว่างวันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ 2565 ในพื้นที่จังหวัดสตูล และตรัง โดยมีหน่วยรับตรวจ คือ สถานศึกษาในสังกัด สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จำนวน 5 แห่ง ดังนี้

จังหวัดสตูล ได้แก่ 1) สำนักงาน กศน. อ.เมือง  (สังกัด กศน.) 2) โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 อ.เมือง (สังกัด สศศ.) 3) ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสตูล อ.เมือง

จังหวัดตรัง ได้แก่ 1) วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง อ.เมือง (สังกัด สอศ.) 2) โรงเรียนตรังคริสเตียนศึกษา อ.เมือง (สังกัด สช.)

จากการลงพื้นที่ตรวจราชการตามนโยบายการตรวจราชการฯ เพื่อรับฟังรายงานผลการดำเนินงาน ในภาพรวม พบว่า หน่วยงาน/สถานศึกษา มีการบริหารจัดการตามบริบทของพื้นที่ที่มีความหลากหลาย เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุผลสำเร็จตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ โดยสรุปผลการดำเนินงาน สภาพปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะ ได้ดังนี้

1. ด้านการพัฒนาครูและการจัดการเรียนการสอน

          1.1 การจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนทุกระดับมีส่วนร่วมสร้างสรรค์การเรียนรู้ เพื่อให้เกิดสมรรถนะหลักและการพัฒนาตนเองตามความถนัดและความสนใจ (Active Learning) จากการลงพื้นที่สนับสนุนการตรวจราชการในเขตตรวจราชการที่ 6 พบว่า สถานศึกษามีการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะหลัก ได้รับการพัฒนาตนเองตามความถนัดและความสนใจเรียนผ่านโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ เช่น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 จ.สตูล ส่งเสริมให้ครูผู้สอนนำนวัตกรรมมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียน อีกทั้งเข้าร่วมประกวดนวัตกรรมทางการจัดการเรียนรู้ภายใต้โครงการ Innovation For Education (IFTE) จัดโดยสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสตูล ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสตูล อ.เมือง จ.สตูล จัดกิจกรรมออกกำลังกาย ดนตรี ศิลปะ หรือวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง อ.เมือง จ.ตรัง ใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning) เป็นต้น ส่งผลให้นักเรียนค้นพบความสามารถของตนเองตามความถนัดและความสนใจ

          ปัญหาอุปสรรค

          1) ขาดแคลนครูผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญ ชำนาญเฉพาะทางในการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้ตามความถนัดและความสนใจ

          2) ขาดแคลนสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย และไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน

          3) เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ทำให้การนิเทศติดตามขาดความต่อเนื่อง ประกอบกับครูผู้สอนมีภาระงานอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น

          สถานศึกษามีวิธีการแก้ไขปัญหา

          1) ปรับรูปแบบการเรียนการสอนเพื่อพัฒนานักเรียนให้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ตามความถนัดและความสนใจ

          2) จัดหาหรือขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงาน/ชุนชนในพื้นที่ เพื่อจัดหาสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยและให้เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน

          1.2 การจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองให้มีความทันสมัย สอดรับกับวิถีใหม่เหมาะสมกับวัยของผู้เรียน ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นและการเสริมสร้างวิถีชีวิตของความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง จากการลงพื้นที่สนับสนุนการตรวจราชการในเขตตรวจราชการที่ 6 พบว่า สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมืองสอดรับกับวิถีใหม่ เหมาะสมกับวัยของผู้เรียน ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นและการเสริมสร้างวิถีชีวิตของความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง เช่น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 จ.สตูล จัดการเรียนรายวิชาท้องถิ่นสตูล ในระดับชั้น ม.1-3 และรายวิชาธรณีโลกสตูล ในระดับชั้น ม.1 ส่งผลให้ผู้เรียนสามารถถ่ายทอดความรู้โดยการเล่าเรื่องราวและแสดงละครประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นสตูลในกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่สาธารณชน และแขกผู้มาเยี่ยม

          ปัญหาอุปสรรค

          1) ขาดแคลนครูผู้สอนที่มีความรู้ในสาขาวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง

          2) เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ทำให้การนิเทศติดตามขาดความต่อเนื่อง ประกอบกับครูผู้สอนมีภาระงานอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น

          สถานศึกษามีวิธีการแก้ไขปัญหา

          สรรหา/จัดจ้างบุคคลที่มีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียน

            1.3 การพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกประเภทให้มีสมรรถนะทางภาษาและดิจิทัล จากการลงพื้นที่สนับสนุนการตรวจราชการในเขตตรวจราชการที่ 6 พบว่า สถานศึกษาส่งเสริมสนับสนุนให้ครูเข้ารับการอบรมทางด้านภาษาและเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งในรูปแบบ On-Site และ On-Line อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจัดให้มีระบบอินเตอร์เน็ต อุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ครูได้พัฒนาความรู้ความสามารถอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ มีความหลากหลาย และทันสมัย ยกตัวอย่าง เช่น วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง จ.ตรัง สนับสนุนให้ครูเข้ารับการอบรมภาษาอังกฤษออนไลน์ของ Nyc English (http://nycenglish.nyc/) และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 จ.สตูล เข้าร่วมโครงการ Coding in your area By PSU

          ปัญหาอุปสรรค

          1) ครูมีชั่วโมงการสอนจำนวนมาก ทำให้มีข้อจำกัดในด้านเวลาการอบรมหรือแสวงหาความรู้

          2) สัญญาอินเตอร์เน็ตขาดความเสถียร ทำให้เป็นอุปสรรคในการอบรมหรือการเรียนการสอน On-Line

          3) ขาดแคลนงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์หรือซ่อมแซมอุปกรณ์ที่มีอยู่ให้ทันสมัยพร้อมใช้งาน

          สถานศึกษามีวิธีการแก้ไขปัญหา

          1) จัดสรรเวลา/ชั่วโมงการสอนให้เอื้อต่อการแสวงหาความรู้ของครูผู้สอน

          2) ขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือด้านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

          3) ขอสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานต้นสังกัด หรือภาคีเครือข่ายเพื่อให้การสนันบสนุนงบประมาณ

          1.4 หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (หลักเกณฑ์ ว.9 (PA)) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้ประกาศหลักเกณฑ์การเประเมินวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเกณฑ์ใหม่ โดยกำหนดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจัดทำแบบข้อตกลงในการพัฒนางาน (Performance Agreement : PA) ทุกปีงบประมาณ โดยเชื่อมโยงบูรณาการกับการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ การประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการเลื่อนเงินเดือน การประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ อย่างมีศักยภาพและสมรรถนะในการปฏิบัติงานขึ้นตามตำแหน่งและวิทยฐานะที่คาดหวัง ซึ่งสถานศึกษาในเขตตรวจราชการที่ 6 ทุกแห่งได้ตระหนักและให้ความสำคัญโดยการจัดอบรมให้ความรู้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกปี ส่งเสริมให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาจัดทำบันทึกข้อตกลงในการพัฒนางาน (PA) ที่เป็นประเด็นท้าทายในการพัฒนาผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ของผู้เรียน ส่งผลให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

          1.5 การขับเคลื่อนศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) และศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management CVM) สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาในเขตตรวจราชการที่ 6 ดำเนินการขับเคลื่อนศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา และศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาอย่างต่อเนื่องภายใต้กรอบการดำเนินงานของ สอศ. ส่งผลให้สถานศึกษาสามารถขับเคลื่อนสู่ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดวิทยาลัยเทคนิคตรัง ประกาศจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งถือเป็นการรองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี

          ปัญหาอุปสรรค

          1) ขาดแคลนครูผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

          2) งบประมาณในการพัฒนาการเรียนการสอนหรือฝึกประสบการณ์ให้ผู้เรียนมีจำกัด ทำให้การจัดการเรียนการสอนไม่ต่อเนื่อง และไม่ทั่วถึง

          สถานศึกษามีวิธีการแก้ไขปัญหา

          1) จ้างครูพิเศษที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียน

          2) แสวงหาความร่วมมือกับสถานประกอบการ ชุมชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การช่วยเหลือทั้งในด้านงบประมาณและการฝึกประสบการณ์ให้กับผู้เรียน

          นวัตกรรม/รูปแบบ/แนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดการสถานศึกษา ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) และศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) ที่เป็นต้นแบบหรือแบบอย่างที่ดี (Best Practice)

          วิทยาลัยเทคนิคตรัง อ.เมือง จ.ตรัง ประกาศจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่

          1.6 ความปลอดภัยของผู้เรียนโดยการสร้างสถานศึกษาปลอดภัย และบริหารจัดการเชิงบูรณาการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประเด็นความปลอดภัยของผู้เรียน โดยการสร้างสถานศึกษาปลอดภัย จากการลงพื้นที่สนับสนุนการตรวจราชการในเขตตรวจราชการที่ 6 พบว่า สถานศึกษาทุกแห่งลงทะเบียนเข้าร่วม MOE Safety Center ของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อร่วมกันสร้างสถานศึกษาปลอดภัยทั้งภัยจากยาเสพติด ความรุนแรงทั้งทางกายและจิตใจ ภัยพิบัติต่าง ๆ อุบัติเหตุ โรคอุบัติใหม่ ฝุ่น PM 2.5 การค้ามนุษย์ การคุกคามในชีวิตและทรัพย์สิน และภัยจากอาชญากรรมไซเบอร์ ตลอดจนสร้างการรับรู้เพื่อช่วยเหลือผู้เรียนให้ปลอดภัย

          ปัญหาและอุปสรรค

            1) ผู้เรียนบางส่วนอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง หรือสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตราย เช่น ชุมชนแออัด แหล่งอบายมุข ฯลฯ

          2) ขาดความร่วมมือจากผู้ปกครองในการดูแลเอาใจใส่ผู้เรียน เนื่องจากส่วนใหญ่ต้องทำงานนอกบ้าน

          สถานศึกษามีวิธีการแก้ไขปัญหา

          1) จัดการเรียนการสอน/จัดอบรมเพื่อสร้างความตระหนักให้กับผู้เรียนได้รับรู้ถึงผลเสียที่จะได้รับ วิธีการหลีกเลี่ยง หรือป้องกันไม่ให้เกิดภัยต่าง ๆ กับตนเองและครอบครัว

          2) สร้างเครือข่าย หรือกลุ่มไลน์ เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารกรณีมีผู้เรียนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับภัยต่าง ๆ เพื่อหาทางช่วยเหลือได้ทันเวลา

          ประเด็นการบริหารจัดการเชิงบูรณาการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สถานศึกษาในเขตตรวจราชการที่ 6 จัดการเรียนการสอนภายใต้มาตรการควบคุมของกระทรวงสาธารณสุข D-M-H-T-T-A อย่างเคร่งครัด กรณี On-Site ตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK สวมหน้ากากอนามัยและปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ตลอดจนรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนทั้งครู บุคลากรและผู้เรียนเพื่อป้องกันความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นกรณีติดเชื้อ และสถานศึกษาจัดทำและอบรมแผนเผชิญเหตุให้แก่บุคลากรเพื่อใช้ในกรณีพบผู้ติดเชื้อ

          ปัญหาอุปสรรค

          - การปิดบังข้อมูลของผู้ปกครองและนักเรียนกรณีเป็นผู้มีความเสี่ยง

          สถานศึกษามีวิธีการแก้ไขปัญหา

          - ประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ทุกฝ่ายตระหนักและให้ความสำคัญในการป้องกันและให้ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนเพื่อร่วมกันป้องกันการติดเชื้อ

2. ด้านการสร้างโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันทางสังคม

          2.1 การค้นหาเด็กวัยเรียนหลุดจากระบบการศึกษาและติดตามให้ความช่วยเหลือเข้าสู่ระบบการศึกษา

จากการลงพื้นที่สนับสนุนการตรวจราชการในเขตตรวจราชการที่ 6 พบว่า สถานศึกษาได้ดำเนินการสำรวจ ค้นหา ติดตามเด็กวัยเรียนที่หลุดระบบการศึกษาและให้การช่วยเหลือ เช่น วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง ติดตามให้ความช่วยเหลือผู้เรียนเข้าสู่ระบบการศึกษา สำหรับเด็กที่อายุเกิน 15 ปี จำนวน 244 คน ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสตูล ค้นหาและติดตามผู้พิการในวัยเรียนที่ยังไม่เข้าสู่ระบบการศึกษาและให้การช่วยเหลือได้จำนวน 3 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับการศึกษา 1 คน เสียชีวิต 1 คน และส่งต่อไปยังโรงเรียนสงขลาพัฒนาปัญญา 1 คน เป็นต้น

          ปัญหาและอุปสรรค

          1) ปัญหาครอบครัว เช่น รายได้ของครอบครัว การหย่าร้างของพ่อแม่ การย้ายถิ่นฐานของครอบครัวฯลฯ

          2) ปัญหาด้านสุขภาพของผู้เรียน เช่น มีโรคประจำตัว

          3) พื้นที่ห่างไกล ยากลำบากในการเข้าไปสำรวจและติดตามผู้เรียน

           สถานศึกษามีวิธีการแก้ไขปัญหา

          1) สถานศึกษาวางแผนการลงพื้นที่ร่วมกับชุมชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตาม ค้นหาเด็กวัยเรียนหลุดระบบการศึกษา และให้ความช่วยเหลือเข้าสู่ระบบการศึกษา

          2) จัดหาทุนการศึกษาเพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้เรียนที่เรียนดีแต่มีฐานะยากจนให้ได้รับการศึกษา

          3) แนะแนวให้คำปรึกษาผู้เรียนกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดระบบการศึกษาเป็นรายบุคคล

          2.2 การดูแลเด็กปฐมวัยด้วยการส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กปฐมวัยทุกคนได้พัฒนาการสมวัย ได้รับโอกาสทางการศึกษาทั้งในและนอกระบบการศึกษา สถานศึกษาในเขตตรวจราชการที่ 6 ที่ดูแลจัดการศึกษาให้กับเด็กปฐมวัย ดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาสมวัย มีโอกาสทางการศึกษาทั้งในและนอกระบบการศึกษาอย่างทั่วถึง ไม่เว้นแม้แต่เด็กพิการซึ่งศูนย์การศึกษาพิเศษได้จัดทำหลักสูตรสถานศึกษาการศึกษาปฐมวัยสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความพิการทั้ง 9 ประเภท โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย ความสามารถ และความแตกต่างระหว่างบุคคล เพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่วัยเรียน

          ปัญหาและอุปสรรค

          1) ผู้ปกครองไม่เห็นถึงความสำคัญของพัฒนาการเด็กปฐมวัย รอจนเข้าสู่วัยเรียนจึงส่งเข้าระบบการศึกษา

          2) เด็กพิการที่อยู่ในช่วงปฐมวัยส่วนใหญ่มีพัฒนาการไม่เป็นไปตามวัย ทำให้การจัดการเรียนการสอนไม่เป็นไปตามพัฒนาการ

          สถานศึกษามีวิธีการแก้ไขปัญหา

          1) ให้ความรู้กับผู้ปกครอง หรือชุมชน ได้ตระหนักถึงการดูแลเด็กปฐมวัยให้ได้รับพัฒนาการสมวัย

          2) ปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับเด็กที่อยู่ในช่วงปฐมวัยให้ได้รับพัฒนาการที่สมวัย

          2.3 การสร้างโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาสและผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษทั้งในและนอกระบบการศึกษา สถานศึกษาในเขตตรวจราชการที่ 6 มีการสร้างโอกาสและการเข้าถึงทางการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาสและผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษทั้งในและนอกระบบการศึกษา เช่น การจัดการเรียนรวมของนักเรียนในในโรงเรียนบ้านคลองขุด อ.เมือง จ.สตูลรวมกับศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสตูล มีการจัดรูปแบบการฟื้นฟูสมรรถภาพ พัฒนาศักยภาพ การเตรียมความพร้อมให้เด็กพิการให้ได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพของแต่ละบุคคลให้มีความสมบูรณ์พร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญาและการดำรงตนให้มีความสุข ดำเนินการพัฒนาในรูปแบบสหวิทยาการทั้งด้านการศึกษา การแพทย์ การสังคมสงเคราะห์ คำนึงถึงการมีส่วนร่วมทั้งหน่วยงานภาครัฐและอกชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการพัฒนาศักยภาพและการให้ความช่วยเหลือเด็กพิการ ซึ่งกระบวนการจัดการศึกษาเน้นการเสริมสร้างศักยภาพและสนองความต้องการจำเป็นพิเศษของเด็กพิการให้ได้รับการพัฒนาอย่างทั่วถึงทุกคน

          ปัญหาและอุปสรรค

          - ข้อจำกัดในการช่วยเหลือเด็กพิการที่อยู่ห่างไกล ทำให้ยากต่อการเข้าถึงการศึกษา

          สถานศึกษามีวิธีการแก้ไขปัญหา

          - ประสานขอความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการมีส่วนร่วมช่วยเหลือเด็กพิการในพื้นที่ห่างไกลหรือยากลำบากในการเดินทาง

3. ด้านความร่วมมือ

          3.1 การจัดการศึกษาแบบทวิภาคีสู่มาตรฐาน ผ่านศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคีเขตพื้นที่ สถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ในเขตตรวจราชการที่ 6 ดำเนินการจัดการศึกษารูปแบบทวิภาคี โดยประสานความร่วมมือหรือทำบันทึกข้อตกลงกับสถานประกอบการในพื้นที่ ส่งนักศึกษาเข้าฝึกประสบการณ์เพื่อพัฒนาผู้เรียนสู่มาตรฐาน อีกทั้ง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง จ.ตรัง ได้ประสานความร่วมมือกับต่างประเทศ สนับสนุนนักศึกษาแผนกสัตวศาสตร์เข้าร่วมการสอบคัดเลือกโครงการนักศึกษาฝึกงานฟาร์มปศุสัตว์ ณ ราชอาณาจักรเดนมาร์ก ปี 2565 ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กับสำนักงานงาน Travel to Farm ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดองค์การเกษตรของราชอาณาจักรเดนมาร์ก โดยมอบหมายให้ครูประจำแผนกเป็นผู้รับผิดชอบในการกำกับ ดูแล ติดตาม และรายงานความก้าวหน้าให้วิทยาลัยทราบเป็นปัจจุบัน

          ปัญหาและอุปสรรค

          - ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ปีการศึกษา 2564 นักศึกษาไม่สามารถดำเนินการฝึกทักษะได้หลายหลายตรงกับสาขาวิชาที่เรียน

          สถานศึกษามีวิธีการแก้ไขปัญหา

          - นักศึกษาที่ได้เข้ารับการฝึกประสบการณ์ต้องดำเนินการภายใต้มาตรการควบคุมอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัย

          3.2 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัยโดยการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย และสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อการพัฒนาทักษะอาชีพ โดยการเพิ่มพูนทักษะ (Re-skill) พัฒนาทักษะ (Up skill) และการเรียนรู้ทักษะใหม่ (New skills) สถานศึกษาในเขตตรวจราชการที่ 6 จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัยโดยจัดการเรียนการสอนที่หลากหลาย สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพโดยการเพิ่มพูนทักษะ (Re-skill) พัฒนาทักษะ (Up skill) และการเรียนรู้ทักษะใหม่ (New skills) ให้กับผู้เรียน เช่น วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง จ.ตรัง จัดการเรียการสอนหลักสูตรระยะสั้นรายวิชาการเลี้ยงปลาน้ำจืด การเลี้ยงโคเนื้อและการปลูกพืชผัก การอบรมถ่ายทอดความรู้การเลี้ยงปลานิลปลอดภัยตามมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จนถึงการแปรรูปปลานิลปลอดภัย ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการประชุมวิชาการระดับชาติ ของสมาชิกองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ฯ ครั้งที่ 41 ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุราษฎร์ธานี

          ปัญหาและอุปสรรค

          - การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ต้องจำกัดรูปแบบการจัดการเรียนการสอน และจำกัดผู้เรียน

          สถานศึกษามีวิธีการแก้ไขปัญหา

          - ปรับรูปแบบการสอนหรือบางกิจกรรมเป็นแบบออนไลน์ แบ่งกลุ่มผู้เข้าเรียนเป็นกลุ่มย่อยและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันที่ ศบค.กำหนดอย่างเคร่งครัด

4. ด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

          4.1 การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการศึกษาทุกระดับการศึกษาที่เน้นการมีส่วนร่วม และการส่งเสริมการฝึกทักษะดิจิทัลในชีวิตประจำวัน จากการลงพื้นที่สนับสนุนการตรวจราชการในเขตตรวจราชการที่ 6 พบว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนหลากหลายรูปแบบทั้ง On-Site, On-line, On Hand และ On Demand โดยส่งเสริมสนับสนุนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการอบรม เพื่อประยุกต์ใช้นวัตกรรมหรือนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการจัดการเรียนการสอน เช่น การเรียนผ่านระบบ Zoom, Google Classroom, การสร้างใบงานออนไลน์ การผลิตสื่อวิดีโอ เป็นต้น เพื่อให้ผู้เรียนได้รับความสะดวก มีส่วนร่วมในการเรียนการสอน และเป็นการส่งเสริมการฝึกทักษะดิจิทัลประจำวัน

          ปัญหาและอุปสรรค

          1) สถานศึกษาบางแห่งขาดแคลนอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัย และไม่เพียงพอในการจัดการเรียนการสอน

          2) ระบบอินเตอร์ขาดความเสถียร หรือไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ในสถานศึกษา

          3) ความพร้อมของผู้เรียนทั้งในด้านอุปกรณ์เทคโนโลยี และผู้ปกครองที่ต้องคอยดูแลเมื่อนักเรียนเรียน On-line ที่บ้าน หรือสัญญาณอินเตอร์ที่เข้าไม่ถึงในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล

          สถานศึกษามีวิธีการแก้ไขปัญหา

          1) ขอรับการสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อจัดหาอุปกรณ์ที่ทันสมัยเพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอน

          2) ปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน เพื่อให้ครอบคลุมการเรียนให้ได้มากที่สุด

ข้อเสนอแนะของผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (นายธฤติ  ประสานสอน)

          ขอให้หน่วยงาน/สถานศึกษาดำเนินการจัดการเรียนการสอน การดูแลป้องกันให้ผู้เรียนปลอดภัยจากโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อุบัติเหตุต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การลืมเด็กนักเรียนไว้ในรถตู้, ตู้กดน้ำเย็นในโรงเรียนดูด, นักเรียนท้องเสียทั้งโรงเรียน, การบลูลี่ของเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ภัยจากไซเบอร์ การค้ามนุษย์ การคุกคามและการล่วงละเมิดทางเพศ ถือเป็นภาระเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องร่วมด้วยช่วยกัน

          การค้นหาเด็กหลุดระบบการศึกษาเพื่อนำไปสู่การแนะแนวการศึกษาก่อนนำเข้าสู่ระบบ ซึ่งผู้เรียนจะมีความพร้อมเข้าศึกษาต่อแบบไหน อย่างไรขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละบุคคล หน่วยงานจึงควรจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับแต่ละคน อันจะเป็นการนำเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริง และขอให้สำนักงานศึกษาธิการภาค 6 ร่วมกับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดและหน่วยงานในพื้นที่ จัดทำข้อมูลสารสนเทศประชากรวัยเรียนในพื้นที่เพื่อใช้เป็นข้อมูลนำเข้าสู่ระบบการศึกษาต่อไป โดยเก็บรวบรวมข้อมูล ประชากรที่อยู่ในวัยเรียนในแต่ละพื้นที่ จัดอยู่กลุ่มผู้พิการ กลุ่มผู้ด้อยโอกาส หรือกลุ่มเปราะบาง เข้าสู่ระบบการศึกษาแล้วกี่คน เรียนอยู่ที่ไหน เรียนอย่างไร และหลุดระบบการศึกษากี่คน ทำอะไรอยู่ นำข้อมูลเหล่านี้ไปจัดทำเป็นแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรม ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต่อไป 


 บันทึข้อมูลโดย: น.ส.น้ำฝน อินดู