ข้อสรุปของ ข้อสรุปการตรวจราชการของศึกษาธิการภาค บันทึกเมื่อวันที่ Date: 12 มกราคม 2565

รายงานสรุปผลการตรวจราชการฯ ระหว่างวันที่ 16-17 พ.ย.64 ณ จ.ตรัง

ตามที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (นายธฤติ ประสานสอน) ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการ เพื่อตรวจ ติดตามการดำเนินการบริหารจัดการและการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภาคเรียนที่ 2/๒๕๖๔ และนโยบายการตรวจราชการเฉพาะด้าน (Agenda Based) การเข้าถึงทางการศึกษาสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาส ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 พร้อมรับฟังรายงานผลการดำเนินงานฯ รวมถึงปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะของหน่วยงาน/สถานศึกษา ระหว่างวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2564 ณ จังหวัดตรัง และตรวจเยี่ยมหน่วยงาน/สถานศึกษา จำนวน 4 แห่ง ดังนี้

1.  กศน. อำเภอเมืองตรัง (กศน.จ.ตรัง)

2.  โรงเรียนบ้านโคกชะแง้ อ.เมือง จ.ตรัง (สพป.ตรัง เขต 1)

3.  โรงเรียนวัดสาริการาม อ.เมือง จ.ตรัง (สพป.ตรัง เขต 1)

4.  ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขต 4 จังหวัดตรัง

จากการลงพื้นที่ตรวจราชการตามนโยบายการตรวจราชการฯ รอบที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และรับฟังรายงานผลการดำเนินงานฯ ในภาพรวม พบว่า หน่วยงาน/สถานศึกษา มีการบริหารจัดการตามบริบทของพื้นที่อย่างหลากหลาย ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานได้บรรลุผลสำเร็จตามนโยบายการตรวจราชการเฉพาะด้าน (Agenda Based) การเข้าถึงทางการศึกษาสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาสของกระทรวงศึกษาธิการ โดยสรุปผลการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะ ตามแบบรายงานฯ ได้ดังนี้

               สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จ.ตรัง ประกอบด้วย กศน.อำเภอทั้งสิ้น 10 แห่ง มีบุคลากรของสำนักงาน กศน.จ.ตรัง จำนวน 189 คน นักศึกษาที่ลงทะเบียนภาคเรียนที่ 1/2564 จำนวน 5,797 คน ได้ร่วมกันวางแผนการดำเนินการจัดการเรียนการสอนไปในทิศทางเดียวกัน โดยสำรวจข้อมูลคนพิการในพื้นที่รับผิดชอบ วิเคราะห์ผู้เรียนตามศักยภาพและความพร้อม เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้มีความเหมาะสมในแต่ละบุคคล ให้ผู้พิการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา โดยปีการศึกษา 2563 และปีการศึกษา 2564 มีจำนวนเด็กพิการทั้ง 9 ประเภท ที่ได้รับการศึกษาภายในสถานศึกษา จำนวนรวม 283 คน และ 260 คน ตามลำดับ จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ดำเนินการจัดการเรียนการสอน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19)  ในรูปแบบ On hand เป็นการจัดหาสื่อแบบเรียน เพื่อนำไปเรียนรู้ที่บ้านโดยความช่วยเหลือของผู้ปกครอง และการจัดการเรียนการสอนแบบ Online ให้แก่ผู้เรียนคนพิการที่มีความพร้อมในการเรียนรู้ เสริมสร้างทักษะชีวิต การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การเรียนรู้ตามอัธยาศัย ส่งเสริมอาชีพให้กับผู้เรียน และขณะนี้กำลังดำเนินโครงการระนองโมเดล เพื่อปักหมุดนักเรียนพิการ เก็บรวบรวมข้อมูลและรายละเอียดต่าง ๆ ให้ครบทุกคน

               และจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษา ณ กศน. อำเภอเมืองตรัง พบว่า กศน.อ.เมืองตรัง  มีพื้นที่รับผิดชอบจำนวน 15 ตำบล มีบุคลากรของสำนักงาน จำนวน 26 คน นักศึกษาที่ลงทะเบียนในปีการศึกษา 2564 จำนวน 1,777 คน ดำเนินการสำรวจข้อมูลคนพิการในพื้นที่รับผิดชอบ วิเคราะห์ผู้เรียนตามศักยภาพและความพร้อม เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้มีความเหมาะสมในแต่ละบุคคล ให้ผู้พิการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา โดยการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 โดยในปีการศึกษา 2564 มีจำนวนเด็กพิการทั้ง 9 ประเภท จำนวน 27 คน ดังนี้

               ความพิการประเภทที่ 2 บุคคลที่บกพร่องทางการได้ยิน           จำนวน   2 คน

               ความพิการประเภทที่ 3 บุคคลที่บกพร่องทางสติปัญญา           จำนวน   6 คน

               ความพิการประเภทที่ 4 บุคคลที่บกพร่องทางกายหรือสุขภาพ    จำนวน 15 คน

               ความพิการประเภทที่ 5 บุคคลที่มีปัญหาทางการเรียนรู้           จำนวน   2 คน

               ความพิการประเภทที่ 8 บุคคลออทิสติก                            จำนวน   2 คน

               สภาพปัญหาและอุปสรรค

               1) ผู้เรียนอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ประกอบกับช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ทำให้ไม่สะดวกในการจัดการเรียนการสอน

               2) ผู้เรียนไม่มีสมาร์ทโฟนของตนเอง ต้องจัดการเรียนการสอนหลังผู้ปกครองเลิกงานซึ่งเป็นเวลาที่ไม่พร้อมในการเรียนรู้

               แนวทางการพัฒนา  

               1) ใช้เทคนิคการสอนที่มีความหลากหลายเพื่อดึงความสนใจของผู้เรียนคนพิการให้มากขึ้น

               2) พัฒนาครูผู้สอนในการใช้เทคนิคการสอนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ เกิดความสนุกสนาน มีความสุขกับการเรียน เช่น การสอนเสมือนการค้าออนไลน์ และ ไลฟ์สด

               3) ผู้พิการที่ไม่สามารถเรียนต่อได้ ควรมีระบบส่งต่อให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป

               4) จัดทำฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ระบุประเภทความพิการที่ชัดเจน เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บข้อมูล

ส่วนการติดตามนโยบายการตรวจราชการเฉพาะด้าน (Agenda Based) การเข้าถึงทางการศึกษาสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาส ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต 1 ในภาพรวม พบว่า สพป.ตรัง เขต 1 มีพื้นที่รับผิดชอบ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองตรัง อ.ปะเหลียน อ.ย่านตาขาว อ.นาโยง และ อ.หาดสำราญ ปีการศึกษา 2564 มีจำนวนโรงเรียนในสังกัด 132 โรงเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 1,844 คน นักเรียน จำนวน 21,358 คน จำแนกเป็นนักเรียนพิการทั้ง 9 ประเภท จำนวน 816 คน เด็กด้อยโอกาส จำนวน 10,793 คน ข้าราชการครูและพี่เลี้ยงเด็กพิการโรงเรียนที่จัดการศึกษาเรียนรวม จำนวน 133 คน จัดการเรียนการสอนสำหรับ 1) เด็กพิการเรียนรวม ส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้เรียนที่เป็นเด็กพิการทั้ง 8 ประเภทความพิการ (ยกเว้นทางการมองเห็น) ได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและได้รับการพัฒนาให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น เหมาะสมกับประเภทความพิการ มีความรู้ ทักษะตามหลักสูตร ตลอดจนมีเจตคติ คุณธรรมและจริยธรรม ครูออกแบบการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมโดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) โดยใช้รูปแบบผสมผสานทั้ง 4 รูปแบบ ได้แก่ On Air Online On Demand และ On Hand ภายใต้การสนับสนุนของผู้ปกครองและศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 4 จ.ตรัง 2) เด็กด้อยโอกาส ส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาให้มีความรู้ สมรรถนะหรือทักษะอาชีพในด้านต่าง ๆ เพื่อการประกอบอาชีพ โดยส่งเสริม สนับสนุนให้สถานศึกษาจัดโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โรงเรียนได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการห้องเรียนอาชีพในสถานศึกษากับสถาบันอาชีวศึกษาใน จ.ตรัง

และจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษา ณ โรงเรียนบ้านโคกชะแง้ อ.เมือง จ.ตรัง (สังกัด สพป.ตรัง เขต 1) จัดการศึกษาในระดับปฐมวัย และระดับประถมศึกษา ปีการศึกษา 2564 มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 126 คน จำนวนนักเรียนพิการทั้ง 9 ประเภท รวม 21 คน ดังนี้

ความพิการประเภทที่ 3 บุคคลที่บกพร่องทางสติปัญญา                           จำนวน 4 คน

               ความพิการประเภทที่ 5 บุคคลที่มีปัญหาทางการเรียนรู้                           จำนวน 5 คน

               ความพิการประเภทที่ 8 บุคคลออทิสติก                                           จำนวน 5 คน

               ความพิการประเภทที่ 9 บุคคลพิการซ้ำซ้อนที่สามารถจัดการเรียนการสอนได้  จำนวน 7 คน

และนักเรียนผู้ด้อยโอกาส มีเพียงประเภทเด็กยากจน(มากเป็นพิเศษ) รวม 45 คน มีครูและบุคลากรทางการศึกษาที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาสจากศูนย์การศึกษาพิเศษ 2 คน ร่วมจัดการเรียนการสอนแบบห้องเรียนคู่ขนานสำหรับบุคคลออทิสติกในโรงเรียน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญหาที่เหมาะสมกับความความสามารถของแต่ละบุคคล มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเองและส่วนรวม รู้จักเสียสละ ช่วยเหลือผู้อื่น มีจิตสาธารณะ อยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข

               สภาพปัญหาอุปสรรค

               สภาพพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน ให้เป็นไปตามแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualized Education Program : IEP)

               แนวทางการพัฒนา  

1) จัดสรรงบประมาณในการจัดพื้นที่ สภาพแวดล้อมที่มีความพร้อม เพื่อรองรับการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลของผู้เรียน

2) โรงเรียนประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ความรู้กับผู้ปกครองในการดูแลนักเรียนพิการและนักเรียนด้อยโอกาส เพื่อพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ

ส่วน โรงเรียนวัดสาริการาม อ.เมือง จ.ตรัง (สังกัด สพป.ตรัง เขต 1) มีการจัดการศึกษาในระดับปฐมวัย และระดับประถมศึกษา ปีการศึกษา 2564 มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 57 คน จำนวนนักเรียนพิการทั้ง 9 ประเภท รวม 32 คน ได้แก่

ความพิการประเภทที่ 2 บุคคลที่บกพร่องทางการได้ยิน                          จำนวน   1 คน

ความพิการประเภทที่ 3 บุคคลที่บกพร่องทางสติปัญญา                           จำนวน   5 คน

               ความพิการประเภทที่ 4 บุคคลที่บกพร่องทางกายหรือสุขภาพ                    จำนวน   1 คน

               ความพิการประเภทที่ 5 บุคคลที่มีปัญหาทางการเรียนรู้                           จำนวน 14 คน

               ความพิการประเภทที่ 8 บุคคลออทิสติก                                           จำนวน   7 คน

               ความพิการประเภทที่ 9 บุคคลพิการซ้ำซ้อนที่สามารถจัดการเรียนการสอนได้  จำนวน   4 คน

และนักเรียนผู้ด้อยโอกาส มีเพียงประเภทเด็กยากจน(มากเป็นพิเศษ) รวม 12 คน

               สภาพปัญหาอุปสรรค

               1) บุคลากรครูไม่ครบชั้น การจัดการเรียนการสอนจึงต้องควบรวมชั้น ส่งผลให้การประเมิน RT ของนักเรียนไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

               2) โรงเรียนขาดผู้บริหาร มีผู้อำนวยการรักษาการ ซึ่งต้องดูแลสถานศึกษา 2 แห่ง ทำให้บริหารจัดการได้ไม่เต็มศักยภาพ

               แนวทางการพัฒนา  

1) จัดสรรผู้บริหาร และบุคลากรครู ให้เพียงพอเพื่อขับเคลื่อนสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

2) สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของโรงเรียนให้มีความเข็มแข็ง ร่วมกันรับผิดชอบการจัดการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา

อีกทั้งยังได้ตรวจเยี่ยม ณ ศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 4 จ.ตรัง (สังกัด สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ.) มีการจัดการศึกษาในระดับปฐมวัย ระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ปีการศึกษา 2564 มีจำนวนนักเรียนพิการทั้งสิ้น 304 คน ให้บริการนักเรียนพิการทุกประเภท ครอบคลุมทุกพื้นทั้ง 10 อำเภอ โดยจัดการศึกษาในรูปแบบ 1) ไป-กลับ แบบหมุนเวียนที่ศูนย์ฯ 2) หน่วยบริการ แบบหมุนเวียน 3) ให้บริการที่บ้าน 4) ห้องเรียนอาชีพ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเป้าหมายสาธารณะ คือ นักเรียนที่รับบริการในศูนย์การเรียนเด็กเจ็บป่วยในโรงพยาบาล และโรงเรียนที่จัดการเรียนรวม ดำเนินการจัดการศึกษาตามแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล โดยในปีการศึกษา 2563 ผลการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนสูงกว่าค่าเป้าหมาย ผู้เรียนมีความพร้อมเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านหรือส่งต่อสูงกว่าค่าเป้าหมาย และผู้เรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์สูงกว่าค่าเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการ/กิจกรรม เช่น โครงการค้นหาเด็กพิการที่ไม่ได้รับการศึกษาตามนโยบายขับเคลื่อนจัดการศึกษาสำหรับคนพิการตามนโยบาย Quick Win โครงการปักหมุดจัดระบบข้อมูลสารสนเทศออนไลน์ โครงการปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู โครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โครงการส่งเสริม สนับสนุนการจัดการเรียนรวม ทำให้สามารถค้นหานักเรียนพิการที่ตกหล่น อยู่นอกพื้นที่ ย้ายถิ่นฐาน หรือนักเรียนออกกลางคัน เพื่อให้การช่วยเหลือ สนับสนุนค่าใช้จ่าย ให้ความรู้กับพ่อแม่ผู้ปกครองในการจัดการเรียนให้กับนักเรียนพิการได้อย่างถูกต้อง

               สภาพปัญหาอุปสรรค

               กลุ่มนักเรียนพิการของศูนย์ฯ มีความหลากหลายในการจัดการเรียนรู้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ทำให้ต้องปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอน โดยใช้รูปแบบ Online, On-hand ตามบริบทและความพร้อมของครบอครัว รูปแบบดังกล่าวยังไม่สามารถตอบสนองต่อวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียน เนื่องจากการสอนนักเรียนพิการต้องใช้เทคนิคและวิธีการเฉพาะ

               แนวทางการพัฒนา  

จัดทำแผนการเปิดภาคเรียนในรูปแบบ Onsite เพื่อให้ผู้เรียนได้มารับบริการที่ศูนย์ ตามแนวทาง Safety Zone School แบบไป-กลับ ในลักษณะ small bubble พร้อมทั้งจัดทำแผนเผชิญเหตุ หากเกิดกรณีการติดเชื้อในสถานศึกษา 

ข้อเสนอแนะของผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (นายธฤติ  ประสานสอน)

               เด็กหลุดระบบการศึกษา คือ เด็กที่ไม่จบการเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 พบมากที่สุดในกลุ่มเด็กด้อยโอกาส ดังนั้นการปักหมุดผู้เรียนทั้ง 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มคนพิการ (9 ประเภท) 2) เด็กด้อยโอกาส       (10 ประเภท) 3) กลุ่มเปราะบาง คือ กลุ่มเด็กประเภทที่ 1+ประเภทที่ 2 และกลุ่มเด็กประเภทที่ 3) จะช่วยค้นหาประชากรวัยเรียน เพื่อนำไปสู่การแนะแนวการศึกษาก่อนนำเข้าสู่ระบบ ซึ่งผู้เรียนจะมีความพร้อมเข้าศึกษาต่อแบบไหน อย่างไรขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละบุคคล หน่วยงานจึงควรจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับแต่ละคน อันจะเป็นการนำเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริง แต่ที่ผ่านมาบางส่วนจะเป็นการแนะนำแล้วนำเข้าสู่ระบบการศึกษาเลย ไม่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละคน ทำให้ไม่ตรงกับความต้องการ ไม่อยากเรียน หรือเรียนได้ไม่ดีเท่าที่ควร

               ขอให้สำนักงานศึกษาธิการภาค 6 ร่วมกับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดและหน่วยงานในพื้นที่ ออกแบบจัดทำข้อมูลสารสนเทศประชากรวัยเรียนในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลนำเข้าสู่ระบบการศึกษาต่อไป โดยเก็บรวบรวมข้อมูล ประชากรที่อยู่ในวัยเรียนในแต่ละพื้นที่ จัดอยู่กลุ่มผู้พิการ กลุ่มผู้ด้อยโอกาส หรือกลุ่มเปราะบาง เข้าสู่ระบบการศึกษาแล้วกี่คน เรียนอยู่ที่ไหน เรียนอย่างไร และหลุดระบบการศึกษากี่คน ทำอะไรอยู่ นำข้อมูลเหล่านี้ไปจัดทำเป็นแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรม ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานต่อไป

          ดังนั้น จึงมีการปักหมุด เพื่อนำเข้าสู่ระบบการศึกษาโดยใช้ “อันดามันโมเดล” หน่วยงาน/สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนโดยคำนึงถึงคุณภาพของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกัน เช่น นักเรียนพิการ คุณภาพ คือ เสริมสร้างทักษะวิชาชีวิต เสริมสร้างทักษะวิชาชีพ แล้วค่อยเสริมสร้างทักษะวิชาการ นักเรียนทั่วไป เสริมสร้างทักษะวิชาการ เสริมสร้างทักษะชีวิต แล้วจึงเสริมสร้างทักษะวิชาชีพ กลุ่ม ปวส.1 เสริมสร้างทักษะวิชาชีวิต เสริมสร้างทักษะวิชาชีพ แล้วจึงเสริมสร้างทักษะวิชาการ ซึ่งในปัจจุบัน กศน.ทั้ง 6 จังหวัดในพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 6 ขับเคลื่อนฯ โดยใช้ “ระนองโมเดล” ได้เริ่มดำเนินการปักหมุดผู้เรียนในแต่ละพื้นที่ ตรวจเยี่ยมเป็นรายบุคคล และค้นหาผู้เรียนตกหล่นเพื่อนำเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ครบ


 บันทึข้อมูลโดย: