ข้อสรุปของ ข้อสรุปการตรวจราชการของศึกษาธิการภาค บันทึกเมื่อวันที่ Date: 23 มกราคม 2565

การตรวจ ติดตามการบริหารจัดการในสถานการณ์การ COVID-19 ภาคเรียนที่ 2/65 ระยะที่ 2 ณ สำนักงาน กศน.จังหวัดอำนาจเจริญ

ประเด็นที่ 1 ผู้ตรวจราชการมอบนโยบาย

ตามที่ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้สั่งการให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ดำเนินการนำเด็กตกหล่นกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ซึ่งโดยส่วนใหญ่เด็กตกหล่น หรือเด็กแขวนลอย เด็กเลื่อนลอย  จัดเป็นเด็ก 3 กลุ่ม ดังนี้

1.      เด็กพิการ

2.      เด็กด้อยโอกาส

3.      เด็กออกกลางคัน

ซึ่งปัญหาเด็กออกกลางคัน มีหลายสาเหตุ โดยสาเหตุนึงที่พบจาก กรณีเกาะพะงัน สถานศึกษาที่เกาะ     พะงันพบปัญหาเด็กออกกลางคัน เนื่องจากแรงงานมาจากต่างถิ่น และมาทั้งครอบครัว จึงส่งบุตรหลานเข้าเรียน    ในสถานศึกษาในพื้นที่  แต่ด้วยสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ตกงาน จึงพาลูกกลับถิ่นเดิม ทำให้เกิดปัญหาหาเด็กออกกลางคัน และยังมีอีกหลายกรณีที่ทำให้เกิดเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษาไทย  ดังนั้นเพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาไทยอีกครั้ง จึงต้องแก้ปัญหานี้ให้หมดไป การแก้ปัญหาเด็กตกหล่น หรือเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษา เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และสั่งการให้กระทรวงศึกษาเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเด็กตกหล่นด้วยการสร้างโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาลง   ให้ได้

 

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ดำเนินกิจกรรมเปิดตัวโครงการ ส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” และมีการแถลงนโยบายให้สาธารณชนได้รับทราบ ถึงแนวทางการช่วยเหลือนักเรียนของกระทรวงศึกษาธิการภายใต้แนวคิด “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ปเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2565  ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ

สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ดำเนินการภายใต้โครงการ กศน.ปักหมุดเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับคนพิการ และผู้ด้อยโอกาศทางการศึกษา

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำเนินการภายใต้โครงการที่จะเป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” เพื่อให้ผู้ที่จบการศึกษาระดับ มัธยมศึกษาตอนต้นที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ได้เข้าศึกษาต่อในสายอาชีพผ่านโครงการ “อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” ตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างโอกาสให้แก่นักเรียนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานภาคบังคับ (ม.3) ได้เรียนต่อ 100%


ประเด็นที่ 2  ผลการดำเนินงานของ ศธจ.อำนาจเจริญ, สำนักงาน กศน.จังหวัดอำนาจเจริญ และโรงเรียน    ปทุมราชวงศา

           ตามประกาศจังหวัดอำนาจเจริญ เรื่อง มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับที่ 19 (แก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 1) ลงวันที่ 13 มกราคม 2565 ข้อ 3 สถานศึกษา/การจัดการเรียนการสอน  (1) ให้โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาจัดการเรียนการสอนรูปแบบอื่นที่ไม่ได้มาเรียนในชั้นเรียน  (On Site) จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2565 หรือจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จะคลี่คลาย หรือมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามกระทรวงศึกษาธิการ และสถานศึกษาได้จัดการเรียนการสอน ในรูปแบบอื่น ตั้งแต่วันที่ 13 – 31 มกราคม 2565


การดำเนินการเรียนการสอนตามแนวปฏิบัติของกระทรวงศึกษาธิการภายหลังเทศกาลปีใหม่ (1 – 14 มกราคม 2565)

    1. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในชุมชนหรือสถานศึกษา

     จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ ในรอบเดือน มกราคม 2565  (1 – 14 มกราคม 2565) ในห้วงเวลาที่ผ่านมามีการแพร่ระบาดที่มีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากปรากฏกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กลายพันธุ์สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron)           ที่สามารถแพร่กระจายได้เร็วและมีโอกาสทำให้ติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ขณะที่ประเทศไทยเริมตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวมากขึ้นเป็นลำดับ และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กำหนดให้จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นพื้นที่ควบคุม (พื้นที่สีส้ม) และจังหวัดอำนาจเจริญ             โดยผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอำนาจเจริญ ได้แก้ไขข้อความเพิ่มเติม  ข้อ 3 สถานศึกษา/การเรียนการสอน (1) ให้โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาจัดการเรียนสอนรูปแบบอื่นที่ไม่ได้มาเรียนในชั้นเรียน (On site) จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2565 หรือจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จะคลี่คลาย หรือมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุขกำหนด

     2. การดำเนินการตามแนวปฏิบัติแผนเผชิญเหตุรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในสถานศึกษา

    สถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการจังหวัดอำนาจเจริญ ได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในสถานศึกษา โดยจัดทำแผนเผชิญเหตุตามแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หากเกิดกรณีฉุกเฉิน และมีการซักซ้อมอย่างเคร่งครัด สม่ำเสมอ หากพบผู้ติดเชื้อ หรือพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง สถานศึกษาต้องมีความพร้อมในเรื่องสถานที่ วัสดุ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ระบบขนส่ง ระบบการประสานงานตรงกับบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ รวมทั้งการสร้างการรับรู้ข่าวสารภายใน การคัดกรองเพื่อแบ่งกลุ่มนักเรียน ครูและบุคลากรในสถานศึกษา 

           จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดอำนาจเจริญ ได้ส่งเสริมสนับสนุนสถานศึกษาในสังกัด ทั้ง 7 แห่ง ดำเนินการปรับรูปแบบการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในส่วนของการเตรียมการจัดการเรียนรู้ สถานศึกษาในสังกัด

        1. ประชุมชี้แจงเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในนโยบายและแนวทางการจัดการศึกษาในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้แก่บุคลากรในสังกัดเพื่อให้สามารถจัดการศึกษาให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

           2. กำหนดแนวทางปฏิบัติในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในสังกัด ดังนี้

    2.1) สถานศึกษาและชุมชนมีมาตรการตรวจคน คัดกรอง วัดไข้ สวมหน้ากากอนามัยการรักษาระยะห่าง และอื่น ๆ ในการเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้

   2.2) นักศึกษาที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่เสี่ยงจะต้องกักไม่ต่ำกว่า 14 วัน

            2.3) นักศึกษาที่มีอาการไข้ หรือเป็นหวัด ไอ จาม หรือมีน้ำมูก ให้พักรักษาตัว พร้อมทั้งสังเกตอาการและเรียน On Line หรือ On Hand ที่บ้าน

    2.4) นักศึกษาที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภายในหมู่บ้านหรือชุมชนตามประกาศของสาธารสุขอำเภอ จะต้องมีผลตรวจหาเชื้อไวรัส   โคโรนา 2019 (ATK) เป็นลบ และต้องตรวจไว้ไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนเข้าสถานศึกษา

           2.5) นักศึกษากลุ่มเสี่ยงสูงหรือนักเรียนที่มีผู้ปกครองหรือญาติเป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้ดำเนินการตามมาตรการของ ศบค.จังหวัดอำนาจเจริญ

   ด้านการจัดการศึกษา สถานศึกษาทั้ง 7 แห่ง ได้ดำเนินการจัดการเรียนรู้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภาคเรียนที่ 2/2564 ระยะที่ 2 ซึ่งได้ดำเนินการ

- On-Site จัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยการพบกลุ่มที่สถานศึกษา หรือพื้นที่ปลอดภัย ภายใต้เงื่อนไขข้อกำหนดและมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอำนาจเจริญ

- On-Air จัดกิจกรรมการเรียนรู้ผ่าน TV, ผ่านสถานีวิทยุและโทรทัศน์เพื่อการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ (ETV) ช่อง 52

- On-Line จัดกิจกรรมการเรียนรู้ดิจิทัล ซึ่งสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจ เช่น Digital Content, YouTube บทเรียนออนไลน์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้, ติวเข้มเติมเต็มความรู้, สื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ, ศูนย์บริการเพื่อการเรียนรู้ (DSLC) และการเรียนการสอนด้วยระบบออนไลน์ (Learning Management System : LMS) โดยสถานศึกษาได้ดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานเอง รวมทั้ง Google Classroom, Facebook, Line และอื่น ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นนวัตกรรมที่สถานศึกษาได้นำมาใช้เพื่อพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภาคเรียนที่ 2/2564 ระยะที่ 2

      - On-Hand จัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยการส่งหนังสือ ใบงาน ใบความรู้อำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษาถึงบ้านหรือที่ทำงาน ทั้งนี้แต่ละสถานศึกษาได้ปรับวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ภายใตเงื่อนไขข้อกำหนดและมาตรการ ประกาศของ ศบค. และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอำนาจเจริญ

  และนอกจาก กศน.จังหวัดอำนาจเจริญแล้ว ยังมีโรงเรียนปทุมราชวงศา อำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ ได้นำเสนอรายงานผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยมีแนวปฏิบัติสำหรับนักเรียนโรงเรียนปทุมราชวงศา อำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้

การปฏิบัติตัวก่อนเข้าสถานศึกษา

1. นักเรียนไม่ได้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงหรือจะต้องอยู่ในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 14 วัน

2. นักเรียนที่มีอาการไข้ เป็นหวัด ไอ จาม หรือมีน้ำมูก ให้พักรักษาตัว สังเกตอาการ และเรียน On Line

หรือ On Hand ที่บ้าน

3. นักเรียนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ ๆ มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายในหมู่บ้านหรือชุมชนตามประกาศของสาธารสุขอำเภอ จะต้องมีผลตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เบื้องต้น (ATK) เป็นลบ ตรวจไว้ไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนเข้าสถานศึกษา

4. นักเรียนกลุ่มเสี่ยงสูงหรือนักเรียนที่มีผู้ปกครองหรือญาติเป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019     ให้ดำเนินการตามมาตรการของ ศบค.จังหวัดอำนาจเจริญ และ On Line หรือ On Hand ที่บ้านจนครบกำหนด     ตามมาตรการ

5. ให้นักเรียนตามข้อที่ 3 ตรวจและรับรองผลโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือโรงพยาบาลใกล้บ้านแล้วนำส่งในวันแรกที่เดินทางมาเรียน

การปฏิบัติตัวระหว่างอยู่ในสถานศึกษา (D-M-H-T-T)

1. D : Social Distancing เว้นระยะห่าง 1 - 2 เมตร เลี่ยงการอยู่ในที่แออัด รักษาระยะห่าง การนั่งเรียนนั่งรับประทานอาหาร และทำกิจกรรมต่าง ๆ

2. M : Mask Wearing สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เมื่ออยู่ในบริเวณสถานศึกษาหรือสถานที่แออัด

3. H : Hand Washing ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่, หรือเจลแอลกอฮอล์ ก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังสัมผัสพื้นผิวที่มีการใช้งานร่วมกัน และหลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จำเป็น

4. T : Testing การตรวจวัดอุณหภูมิและตรวจหาเชื้อ COVID-19 ในกรณีที่มีอาการเข้าข่าย นักเรียนทุกคนต้องผ่านการคัดกรองเบื้องต้นก่อนเข้าสถานศึกษา

5. T : Thai Cha Na สแกนไทยชนะก่อน เข้า – ออก สถานที่สาธารณะทุกครั้ง เพื่อให้มีข้อมูลในการประสานงานได้ง่ายขึ้น

ประเด็นที่ 3  ปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนะ

ปัญหา อุปสรรค

1. ข้อจำกัด ของผู้เรียนด้านอุปกรณ์การเรียนรู้ผ่านอินเตอร์เน็ต

2. การสื่อสารกับผู้ปกครองในเรื่องชี้แจงความเข้าใจค่อนข้างยาก เนื่องจากหากมีการติดเชื้อในพื้นที่บางแห่งติดอยู่ห่างจากพื้นที่เป็นระยะทางไกล แต่ผู้ปกครองก็มีความต้องการให้ปิดเรียน ทั้งที่อยู่คนละพื้นที่

3. ในเรื่องการฉีดวัคซีน รอบที่ 1 ผู้ปกครองยังมีความยินยอมให้ฉีดได้ร้อยละ 80-90% แต่ในรอบเด็กอายุ 5-11 ปี มีความยินยอมจากผู้ปกครองเพียง 50-60% 

4. ชุดตรวจ ATK ถึงแม้จะมีราคาถูกลง แต่หากต้องจัดซื้อในจำนวนมาก และหลาย ๆ ครั้งก็เป็นปัญหาในเรื่องงบประมาณของสถานศึกษาที่อาจไม่เพียงพอ


ข้อเสนอแนะ

1. เรื่องการชี้แจงข้อมูลต่อผู้ปกครองเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เข้าใจในเรื่องการเปิดหรือปิดเรียน หากมีกรณีการติดเชื้อในพื้นที่

2. การปิดเรียน ทำให้เด็ก ๆ ออกไปตามที่ต่าง ๆ มากขึ้น เช่น การไปซื้อของตามห้างร้านต่าง ๆ การพบเจอคนภายนอกมีมากขึ้น ความเสี่ยงในการติดเชื้อยิ่งเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมากกว่าการอยู่ในโรงเรียน การปิดเรียนอาจไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ดีก็เป็นได้

3. นักเรียน นักศึกษา กศน. (อายุ 15- 18 ปี) จากเดิมเนื่องจาก นักเรียน นักศึกษาของ กศน. ไม่ได้อยู่รวมกันในห้องเรียนตลอดการเช็คจำนวน เพื่อรับวัคซีนจึงไม่ครบถ้วน และการส่งข้อมูลจำนวนนักเรียนไม่ทัน     ทำให้ไม่ได้โควต้าวัคซีน ซึ่งขณะนี้ทางสาธารณสุขได้ประสานแจ้งมาแล้วว่า หากไม่มีชื่อ และอยู่ในวัยที่ฉีดได้           สามารถมารับวัคซีนได้ตามโรงพยาบาลของรัฐ









 บันทึข้อมูลโดย: นางสาวอัญญารัตน์ รัตนา