ข้อสรุปของ ข้อสรุปการตรวจราชการของศึกษาธิการภาค บันทึกเมื่อวันที่ Date: 04 เมษายน 2565

รายงานสรุปผลการตรวจราชการฯ ระหว่างวันที่ 27-29 มี.ค. 65 ณ จ.ระนอง พังงา และภูเก็ต

รายงานสรุปผลการตรวจราชการ

ตามนโยบายการตรวจราชการและติดตาม ประเมินผลการจัดการศึกษา

ของกระทรวงศึกษาธิการ กรณีปกติ

ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เขตตรวจราชการที่ 6

ของผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (นายธฤติ ประสานสอน)

ระหว่างวันที่ 27-29 มีนาคม 2565 ณ จังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

          ตามที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (นายธฤติ ประสานสอน) ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการตามนโยบายการตรวจราชการและติดตาม ประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ กรณีปกติ รอบที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ระหว่างวันที่ 27-29 มีนาคม 2565 ในพื้นที่จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต และตรวจราชการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในระบบ Zoom Meeting ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ และโดยการจัดส่งรายงานตามแบบรายงานฯ ในพื้นที่จังหวัดตรัง และสตูล โดยมีหน่วยรับตรวจ คือ หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 6 ทุกสังกัด

จากการลงพื้นที่ตรวจราชการฯ และแบบรายงานผลตามนโยบายการตรวจราชการฯ เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน ในภาพรวม พบว่า หน่วยงาน/สถานศึกษา มีการบริหารจัดการตามบริบทของพื้นที่ที่มีความหลากหลาย เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุผลสำเร็จตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ โดยสรุปผลการดำเนินงาน สภาพปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะ ได้ดังนี้

1. ด้านการพัฒนาครูและการจัดการเรียนการสอน

          1.1 การจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนทุกระดับมีส่วนร่วมสร้างสรรค์การเรียนรู้ เพื่อให้เกิดสมรรถนะหลักและการพัฒนาตนเองตามความถนัดและความสนใจ (Active Learning) จากการลงพื้นที่สนับสนุนการตรวจราชการฯ และจากรายงานผลตามนโยบายการตรวจราชการฯ ในเขตตรวจราชการที่ 6 พบว่า หน่วยงานต้นสังกัดทุกแห่งในพื้นที่ สนับสนุนให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะหลัก ได้รับการพัฒนาตนเองตามความถนัดและความสนใจ โดยส่งเสริมให้สถานศึกษาสร้างนวัตกรรม รูปแบบ หรือแนวทางการจัดการเรียนรู้เชิงรุกที่ดี ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทั้งรูปแบบการเรียนการสอน กิจกรรม/สื่อประกอบการเรียนการสอน สถานที่ ตลอดจนการวัดและประเมินผล ยกตัวอย่างเช่น ครูในสังกัด สพป.ระนอง ใช้วิธีการสอนแบบ Inquiry-based Learning, Activity-based Learning, Project-based Learning และ PPP(Presentation, Practice and Production) วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีระนอง จัดทำศูนย์การเรียนรู้ภายในวิทยาลัยฯ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจ ซึ่งในปีการศึกษา 2564 วิทยาลัยฯ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ประเภทที่ 1 การดำเนินงานภายในวิทยาลัยดีเด่น ศูนย์การเรียนรู้ระดับภาค หรือโรงเรียนเยาวิทย์ จ.พังงา จัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นด้านทักษะชีวิตและทักษะอาชีพในรูปแบบของฐานการเรียนรู้ ได้แก่ ฐานการเรียนรู้นมแพะ ฐานการเรียนรู้ไก่ไข่ ฐานการเรียนรู้ปลาน้ำจืด และฐานการเรียนรู้ผัก เป็นต้น โดยการจัดการเรียนการสอนดังกล่าวนี้ส่งผลให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม สติปัญญา สามารถพึ่งพาตนเอง และอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข

          ปัญหาและอุปสรรค

          1) ครูผู้สอนขาดทักษะที่จะกระตุ้นการเรียนรู้หรือดึงความสนใจของผู้เรียนผ่านการเรียนระบบ On-Line

          2) ผู้เรียนบางส่วนขาดอุปกรณ์การเรียนระบบ On-Line เช่น ไม่มีโทรศัพท์มือถือ หรือสัญญาณอินเตอร์เน็ต

          3) กิจกรรมการเรียนการสอนบางอย่างไม่สามารถดำเนินการผ่านระบบ On-Line ได้ ส่งผลให้ผู้เรียนไม่ได้รับการฝึกฝนจากการปฏิบัติจริง

          4) สถานศึกษาไม่สามารถสนับสนุนทรัพยากรในการสร้างสื่อเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่เนื่องจากงบบประมาณที่มีอยู่จำกัด

          การแก้ไขปัญหาและข้อเสนอแนะ

          1) ส่งเสริมให้ครูผู้สอนได้รับการอบรมในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อให้เกิดทักษะในการจัดการเรียนการสอน

          2) ปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนทุกคนได้เรียนรู้ตามบริบทของแต่ละคน เช่น ผู้ที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ครูผู้สอนอาจมอบหมายใบงาน/ใบความรู้ เป็นต้น

          3) สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับชุนชนในพื้นที่ เพื่อให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ

          นวัตกรรม/รูปแบบ/แนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ที่เป็นต้นแบบหรือแบบอย่างที่ดี (Best Practice)

การจัดการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning แบบรวมพลัง 5 ขั้นตอน (Co–5 Steps) ผ่านการถอดบทเรียนร่วมกันโดยใช้ KUKID Model ของโรงเรียนชุมชนบ้านเขากลม อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


         

 

 

          1.2 การจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองให้มีความทันสมัย สอดรับกับวิถีใหม่เหมาะสมกับวัยของผู้เรียน ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นและการเสริมสร้างวิถีชีวิตของความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง จากการลงพื้นที่สนับสนุนการตรวจราชการฯ และจากรายงานผลตามนโยบายการตรวจราชการฯ ในเขตตรวจราชการที่ 6 พบว่า สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมืองสอดรับกับวิถีใหม่ เหมาะสมกับวัยของผู้เรียน ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นและการเสริมสร้างวิถีชีวิตของความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระนอง จัดทำกรอบหลักสูตรระดับท้องถิ่น พร้อมทั้งสนับสนุนสื่อเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง สื่อวีดีทัศน์ และจัดทำหนังสือ “ย้อนรอยเมืองเก่า เล่าเรื่องเมืองแร่นอง” ฝนแปด แดดสี่ สำหรับครูผู้สอนในสังกัด หรือโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42  จ.สตูล จัดการเรียนรายวิชาท้องถิ่นสตูล ในระดับชั้น ม.1-3 และรายวิชาธรณีโลกสตูล ในระดับชั้น ม.1 ส่งผลให้ผู้เรียนสามารถถ่ายทอดความรู้โดยการเล่าเรื่องราวและแสดงละครประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นสตูลในกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่สาธารณชน และแขกผู้มาเยี่ยม เป็นต้น

          ปัญหาและอุปสรรค

          1) ครูผู้สอนไม่ใช่คนในท้องถิ่นหรือขาดทักษะในสาขาวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง

          2) ขาดแคลนงบประมาณในการจัดหาสื่อ อุปกรณ์มาสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน

การแก้ไขปัญหาและข้อเสนอแนะ

          1) ประสานความร่วมมือ/สรรหาปราชญ์ชาวบ้านเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียน

            2) จัดอบรมเพื่อพัฒนาทักษะและการจัดทำสื่อการเรียนการสอนให้กับครูผู้สอนอย่างต่อเนื่อง

          นวัตกรรม/รูปแบบ/แนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองให้มีความทันสมัย ที่เป็นต้นแบบหรือแบบอย่างที่ดี (Best Practice)

          1) หนังสือ “ย้อนรอยเมืองเก่า เล่าเรื่องเมืองแร่นอง” ฝนแปด แดดสี่ ของ สพป.ระนอง

          2) อุทยานธรณีสตูล E-Book @ กศน.สตูล

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

            1.3 การพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกประเภทให้มีสมรรถนะทางภาษาและดิจิทัล รวมทั้งการจัดการเรียนการสอน จากการลงพื้นที่สนับสนุนการตรวจราชการฯ และจากรายงานผลตามนโยบายการตรวจราชการฯ ในเขตตรวจราชการที่ 6 พบว่า ครูผู้สอนและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการส่งเสริม พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษและดิจิทัล โดยการอบรมทางด้านภาษาและเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งในรูปแบบ On-Site และ On-Line หลากหลายหลักสูตร อย่างต่อเนื่อง เช่น หลักสูตร English for Communication หลักสูตร English Foundation in Everyday Life หลักสูตร Reading for comprehension หลักสูตร English Discoveries หลักสูตร Basic Phonetics ของ สพป.ระนอง การอบรมภาษาอังกฤษออนไลน์ของ Nyc English (http://nycenglish.nyc/) ของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง จ.ตรัง การเข้าร่วมโครงการ Coding in your area By PSU ของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 จ.สตูล หรือการสนับสนุนให้ครูได้รับการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษตามกรอบมาตรฐานทางภาษาอังกฤษ CEFR โดยจัดตั้งศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคลากรสู่ความเป็นเลิศ HCEC จำนวน 3 ศูนย์ ได้แก่ โรงเรียนตะกั่วป่า “เสนานุกูล” จ.พังงา โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย จ.ภูเก็ต และโรงเรียนพิชัยรัตนาคาร จ.ระนอง ของ สพม.ภูเก็ต พังงา ระนอง นอกจากนี้สถานศึกษายังได้จัดให้มีระบบอินเตอร์เน็ต อุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ครูได้พัฒนาความรู้ความสามารถอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ มีความหลากหลาย และทันสมัย

          ปัญหาและอุปสรรค

          1) ครูมีชั่วโมงการสอนจำนวนมาก ทำให้มีข้อจำกัดในด้านเวลาการอบรมหรือแสวงหาความรู้

          2) สัญญาอินเตอร์เน็ตขาดความเสถียร ทำให้เป็นอุปสรรคในการอบรมหรือการเรียนการสอน On-Line

          3) ขาดแคลนงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์หรือซ่อมแซมอุปกรณ์ที่มีอยู่ให้ทันสมัยพร้อมใช้งาน

การแก้ไขปัญหาและข้อเสนอแนะ

          1) จัดสรรเวลา/ชั่วโมงการสอนให้เอื้อต่อการแสวงหาความรู้ของครูผู้สอน

          2) ขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือด้านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

          3) ขอสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานต้นสังกัด หรือภาคีเครือข่ายเพื่อให้การสนันบสนุนงบประมาณ

          1.4 หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (หลักเกณฑ์ ว.9 (PA)) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้ประกาศหลักเกณฑ์การเประเมินวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเกณฑ์ใหม่ โดยกำหนดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจัดทำแบบข้อตกลงในการพัฒนางาน (Performance Agreement : PA) ทุกปีงบประมาณ โดยเชื่อมโยงบูรณาการกับการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ การประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการเลื่อนเงินเดือน การประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ อย่างมีศักยภาพและสมรรถนะในการปฏิบัติงานขึ้นตามตำแหน่งและวิทยฐานะที่คาดหวัง ซึ่งสถานศึกษาในเขตตรวจราชการที่ 6 ทุกแห่งได้ตระหนักและให้ความสำคัญโดยการจัดอบรมให้ความรู้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกปี ส่งเสริมให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาจัดทำบันทึกข้อตกลงในการพัฒนางาน (PA) ที่เป็นประเด็นท้าทายในการพัฒนาผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ของผู้เรียน ส่งผลให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

          ปัญหาและอุปสรรค

          เนื่องจากเป็นหลักเกณฑ์ใหม่ อยู่ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่าน ครูและบุคลากรทางการศึกษายังขาดความเข้าใจในหลักเกณฑ์ วิธีการประเมิน และแนวปฏิบัติที่ถูกต้อง

         

การแก้ไขปัญหาและข้อเสนอแนะ

          จัดอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างความรู้ความเข้าใจและการใช้งานระบบการประเมินวิทยฐานะดิจิทัล เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ฯ ได้อย่างถูกต้อง

          1.5 การขับเคลื่อนศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) และศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) สถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาในเขตตรวจราชการที่ 6 ดำเนินการขับเคลื่อนศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา และศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาอย่างต่อเนื่องภายใต้กรอบการดำเนินงานของ สอศ. เช่น วิทยาลัยเทคนิคถลาง จัดตั้งศูนย์ฯ CVM สาขาวิชาช่างอากาศยาน วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ตพัฒนาหลักสูตร ปวส. สาขาช่างซ่อมบำรุงเรือ สาขางานเทคนิค ช่างซ่อมบำรุงเรือยอร์ช วิทยาลัยสารพัดช่างภูเก็ต ขับเคลื่อนศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษาในสาขาวิชาเทคโนโลยีความงาม สาขาอาหารเพื่อธุรกิจท่องเที่ยว สาขาอุตสาหกรรมบันทเทิง(หลักสูตรระยะสั้น) วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีระนอง ได้ประเมินความเป็นเลิศทางวิชาการอยู่ในขั้น Expert ในสาขาวิชาเกษตรศาสตร์ หรือวิทยาลัยเทคนิคตรัง ประกาศจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ เป็นต้น ส่งผลให้สถานศึกษาสามารถขับเคลื่อนสู่ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง

          ปัญหาอุปสรรค

          1) ขาดแคลนครูผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

          2) งบประมาณในการพัฒนาการเรียนการสอนหรือฝึกประสบการณ์ให้ผู้เรียนมีจำกัด ทำให้การจัดการเรียนการสอนไม่ต่อเนื่อง และไม่ทั่วถึง

          การแก้ไขปัญหาและข้อเสนอแนะ

          1) จ้างครูพิเศษที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียน

          2) แสวงหาความร่วมมือกับสถานประกอบการ ชุมชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การช่วยเหลือทั้งในด้านงบประมาณและการฝึกประสบการณ์ให้กับผู้เรียน

          นวัตกรรม/รูปแบบ/แนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดการสถานศึกษา ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) และศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) ที่เป็นต้นแบบหรือแบบอย่างที่ดี (Best Practice)

          วิทยาลัยเทคนิคถลาง อ.เมือง จ.ภูเก็ต จัดตั้งศูนย์ CVM สาขาวิชาช่างอากาศยาน

 

 

 

 

 

 

 

          1.6 ความปลอดภัยของผู้เรียนโดยการสร้างสถานศึกษาปลอดภัย และบริหารจัดการเชิงบูรณาการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประเด็นความปลอดภัยของผู้เรียน โดยการสร้างสถานศึกษาปลอดภัย

          จากการลงพื้นที่สนับสนุนการตรวจราชการฯ และจากรายงานผลตามนโยบายการตรวจราชการฯ        ในเขตตรวจราชการที่ 6 พบว่า สถานศึกษาทุกสังกัดดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการ เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ มอบหมายผู้รับผิดชอบ เข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม line จังหวัด และสมัครเข้าใช้งานระบบ MOE Safety Center ของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อร่วมกันสร้างสถานศึกษาปลอดภัยทั้งภัยจากยาเสพติด ความรุนแรงทั้งทางกายและจิตใจ ภัยพิบัติต่าง ๆ อุบัติเหตุ โรคอุบัติใหม่ ฝุ่น PM 2.5 การค้ามนุษย์ การคุกคามในชีวิตและทรัพย์สิน และภัยจากอาชญากรรมไซเบอร์ ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ มีความสุข และได้รับการปกป้อง คุ้มครองความปลอดภัยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ โดยระบบ MOE Safety Center สามารถลดขั้นตอน ลดเวลา มีความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาได้จริง

          ปัญหาและอุปสรรค

          1) ผู้เรียนบางส่วนอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง หรือสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตราย เช่น ชุมชนแออัด สถานบันเทิง แหล่งอบายมุข ฯลฯ

          2) ขาดความร่วมมือจากผู้ปกครองในการดูแลเอาใจใส่ผู้เรียน เนื่องจากส่วนใหญ่ต้องทำงานนอกบ้าน

          3) ขาดทักษะการใช้งานผ่าน Application

          การแก้ไขปัญหาและข้อเสนอแนะ

          1) จัดการเรียนการสอน/จัดอบรมเพื่อสร้างความตระหนักให้กับผู้เรียนได้รับรู้ถึงผลเสียที่จะได้รับ วิธีการหลีกเลี่ยง หรือป้องกันไม่ให้เกิดภัยต่าง ๆ กับตนเองและครอบครัว

          2) สร้างเครือข่าย หรือกลุ่มไลน์ เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารกรณีมีผู้เรียนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับภัยต่าง ๆ เพื่อหาทางช่วยเหลือได้ทันเวลา

          3) จัดอบบรมให้ความรู้/ประชาสัมพันธ์การใช้งาน Application

          นวัตกรรม/รูปแบบ/แนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้เรียนโดยการสร้างสถานศึกษาปลอดภัย ที่เป็นต้นแบบหรือแบบอย่างที่ดี (Best Practice

          สพป.ระนอง จัดตั้งศูนย์ ฉก.ชน.สพป.ระนอง เพื่อดูแลช่วยเหลือในด้านความปลอดภัยให้กับผู้เรียนภายใต้คำขวัญ “ดูแล ห่วงใย ใส่ใจรอบด้าน”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

2. ด้านการสร้างโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันทางสังคม

          2.1 การค้นหาเด็กวัยเรียนหลุดจากระบบการศึกษาและติดตามให้ความช่วยเหลือเข้าสู่ระบบการศึกษา

จากการลงพื้นที่สนับสนุนการตรวจราชการฯ และจากรายงานผลตามนโยบายการตรวจราชการฯ ในเขตตรวจราชการที่ 6 พบว่า สถานศึกษาได้ดำเนินการสำรวจ ค้นหา ติดตามเด็กวัยเรียนที่หลุดระบบการศึกษาและออกกลางคันให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาโดยบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อนำผู้เรียนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ

          ปัญหาและอุปสรรค

          1) ปัญหาครอบครัว เช่น รายได้ของครอบครัว การหย่าร้างของพ่อแม่ การย้ายถิ่นฐานของครอบครัวฯลฯ

          2) ปัญหาด้านสุขภาพของผู้เรียน เช่น มีโรคประจำตัว

          3) พื้นที่ห่างไกล ยากลำบากในการเข้าไปสำรวจและติดตามผู้เรียน

           การแก้ไขปัญหาและข้อเสนอแนะ

          1) สถานศึกษาวางแผนการลงพื้นที่ร่วมกับชุมชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตาม ค้นหาเด็กวัยเรียนหลุดระบบการศึกษา และให้ความช่วยเหลือเข้าสู่ระบบการศึกษา

          2) จัดหาทุนการศึกษาเพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้เรียนที่เรียนดีแต่มีฐานะยากจนให้ได้รับการศึกษา

          3) แนะแนวให้คำปรึกษาผู้เรียนกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดระบบการศึกษาเป็นรายบุคคล

          2.2 การดูแลเด็กปฐมวัยด้วยการส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กปฐมวัยทุกคนได้พัฒนาการสมวัย ได้รับโอกาสทางการศึกษาทั้งในและนอกระบบการศึกษา สถานศึกษาในเขตตรวจราชการที่ 6 ที่ดูแลจัดการศึกษาให้กับเด็กปฐมวัย ดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาสมวัย มีโอกาสทางการศึกษาทั้งในและนอกระบบการศึกษาอย่างทั่วถึง ไม่เว้นแม้แต่เด็กพิการซึ่งศูนย์การศึกษาพิเศษได้จัดทำหลักสูตรสถานศึกษาการศึกษาปฐมวัยสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความพิการทั้ง 9 ประเภท โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย ความสามารถ และความแตกต่างระหว่างบุคคล เพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่วัยเรียน

          ปัญหาและอุปสรรค

          1) ผู้ปกครองไม่เห็นถึงความสำคัญของพัฒนาการเด็กปฐมวัย รอจนเข้าสู่วัยเรียนจึงส่งเข้าระบบการศึกษา

          2) เด็กพิการที่อยู่ในช่วงปฐมวัยส่วนใหญ่มีพัฒนาการไม่เป็นไปตามวัย ทำให้การจัดการเรียนการสอนไม่เป็นไปตามพัฒนาการ

          การแก้ไขปัญหาและข้อเสนอแนะ

          1) ให้ความรู้กับผู้ปกครอง หรือชุมชน ได้ตระหนักถึงการดูแลเด็กปฐมวัยให้ได้รับพัฒนาการสมวัย

          2) ปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับเด็กที่อยู่ในช่วงปฐมวัยให้ได้รับพัฒนาการที่สมวัย

          2.3 การสร้างโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาสและผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษทั้งในและนอกระบบการศึกษา จากการลงพื้นที่สนับสนุนการตรวจราชการฯ และจากรายงานผลตามนโยบายการตรวจราชการฯ ในเขตตรวจราชการที่ 6 พบว่า สถานศึกษาในเขตตรวจราชการ    ที่ 6 มีการสร้างโอกาสและการเข้าถึงทางการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาสและผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษทั้งในและนอกระบบการศึกษา โดยผู้เรียนปกติส่วนใหญ่ มีผลการประเมินพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์จิตใจ สังคม และสติปัญญา ผ่านเกณฑ์การประเมินพัฒนาการคุณภาพระดับ 3 ทั้ง 4 ด้าน

          ปัญหาและอุปสรรค

          1) ขาดแคลนครูผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

          2) เด็กพิการและผู้ด้อยโอกาสที่อยู่ห่างไกล ทำให้ยากต่อการเข้าถึงการศึกษา

          การแก้ไขปัญหาและข้อเสนอแนะ

          1) ขอรับจัดสรรครูเฉพาะด้าน เพื่อดูแลพัฒนาผู้เรียนได้เต็มศักยภาพ

          2) ประสานขอความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนมช่วยเหลือเด็กพิการและผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกลหรือยากลำบากในการเดินทาง

3. ด้านความร่วมมือ

          3.1 การจัดการศึกษาแบบทวิภาคีสู่มาตรฐาน ผ่านศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคีเขตพื้นที่ สถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ในเขตตรวจราชการที่ 6 ดำเนินการจัดการศึกษารูปแบบทวิภาคี โดยประสานความร่วมมือหรือทำบันทึกข้อตกลงกับสถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งนักศึกษาเข้าฝึกประสบการณ์ ตลอดจนมีการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับสถานประกอบการในการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ บริบทของพื้นที่ และทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (S-Curve) ได้อย่างมีคุณภาพ เช่น วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง จ.ตรัง ได้ประสานความร่วมมือกับต่างประเทศ สนับสนุนนักศึกษาแผนกสัตวศาสตร์เข้าร่วมการสอบคัดเลือกโครงการนักศึกษาฝึกงานฟาร์มปศุสัตว์ ณ ราชอาณาจักรเดนมาร์ก ปี 2565 ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กับสำนักงานงาน Travel to Farm ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดองค์การเกษตรของราชอาณาจักรเดนมาร์ก โดยมอบหมายให้ครูประจำแผนกเป็นผู้รับผิดชอบในการกำกับ ดูแล ติดตาม และรายงานความก้าวหน้าให้วิทยาลัยทราบเป็นปัจจุบัน และวิทยาลัยเทคนิคถลาง จ.ภูเก็ต ได้ประสานความร่วมมือกับท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต สนับสนุนนักศึกษาสาขาช่างอากาศยานเข้าฝึกประสบการณ์ เป็นต้น

          ปัญหาและอุปสรรค

          1) ขาดแคลนครูผู้สอนที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

          2) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลให้ปีการศึกษา 2564 นักศึกษาไม่สามารถดำเนินการฝึกทักษะได้หลายหลายตรงกับสาขาวิชาที่เรียน

          การแก้ไขปัญหาและข้อเสนอแนะ

          1) ประสานความร่วมมือส่งครูผู้สอนเข้าฝึกประสบการณ์ ในการเพิ่มพูนความรู้ความสามารถเพื่อนำกลับมาถ่ายทอดให้กับผู้เรียน

          2) เชิญผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในหน่วยงาน/องค์กรต่าง ๆ มาถ่ายทอดประสบการณ์ตรงให้กับผู้เรียน

          3) นักศึกษาที่ได้เข้ารับการฝึกประสบการณ์ต้องดำเนินการภายใต้มาตรการควบคุมอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัย

          3.2 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัยโดยการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย และสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อการพัฒนาทักษะอาชีพ โดยการเพิ่มพูนทักษะ (Re-skill) พัฒนาทักษะ (Up skill) และการเรียนรู้ทักษะใหม่ (New skills) จากการลงพื้นที่สนับสนุนการตรวจราชการฯ และจากรายงานผลตามนโยบายการตรวจราชการฯ ในเขตตรวจราชการที่ 6 พบว่า สถานศึกษาดำเนินการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัยโดยจัดการเรียนการสอนที่หลากหลาย สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพโดยการเพิ่มพูนทักษะ (Re-skill) พัฒนาทักษะ (Up skill) และการเรียนรู้ทักษะใหม่ (New skills) ให้กับผู้เรียนผ่านสื่อเทคโนโลยีที่หลากหลาย เช่น Application ต่าง ๆ, Zoom, Line, Facebook, YouTube ฯลฯ หรือจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะพื้นฐานเชื่อมโยงสู่การสร้างอาชีพและการมีงานทำ โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานจากภายนอก ผ่านกิจกรรม โครงงาน หรือโครงการ เช่น หลักสูตรระยะสั้นต่าง ๆ

          ปัญหาและอุปสรรค

          1) บุคลากรขาดทักษะ/ประสบการณ์ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการเรียนรู้

          2) การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ต้องจำกัดรูปแบบการจัดการเรียนการสอน และจำกัดผู้เรียน

          การแก้ไขปัญหาและข้อเสนอแนะ

          1) อบรมบุคลากรเพื่อพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีที่หลากหลาย

          2) ปรับรูปแบบการสอนหรือบางกิจกรรมเป็นแบบออนไลน์ แบ่งกลุ่มผู้เข้าเรียนเป็นกลุ่มย่อยและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันที่ ศบค.กำหนดอย่างเคร่งครัด

          3) สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับชุมชน หรือหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่

4. ด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

          4.1 การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการศึกษาทุกระดับการศึกษาที่เน้นการมีส่วนร่วม และการส่งเสริมการฝึกทักษะดิจิทัลในชีวิตประจำวัน จากการลงพื้นที่สนับสนุนการตรวจราชการฯ และจากรายงานผลตามนโยบายการตรวจราชการฯ ในเขตตรวจราชการที่ 6 พบว่า สถานศึกษาทุกแห่งได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยงานต้นสังกัดในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน โดยเน้นการมีส่วนร่วม ส่งเสริมการฝึกดิจิทัลในชีวิตประจำวันให้กับครูผู้สอน ซึ่งภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สถานศึกษาจำเป็นต้องจัดรูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลายทั้ง On-Site, On-line, On Hand และ On Demand เพื่อให้ผู้เรียนได้รับความสะดวก และมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน นอกจากนี้ สถานศึกษาได้ส่งเสริมสนับสนุนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้ารับการอบรมอย่างต่อเนื่อง เช่น อบรมการเรียนผ่านระบบ Zoom, Google Classroom, การสร้างใบงานออนไลน์ การผลิตสื่อวิดีโอ สื่อสามมิติ เป็นต้น

          ปัญหาและอุปสรรค

          1) สถานศึกษาบางแห่งขาดแคลนอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัย และไม่เพียงพอในการจัดการเรียนการสอน

          2) ระบบอินเตอร์ขาดความเสถียร หรือไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ในสถานศึกษา

          3) ความพร้อมของผู้เรียนทั้งในด้านอุปกรณ์เทคโนโลยี และผู้ปกครองที่ต้องคอยดูแลเมื่อนักเรียนเรียน On-line ที่บ้าน หรือสัญญาณอินเตอร์ที่เข้าไม่ถึงในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล

          การแก้ไขปัญหาและข้อเสนอแนะ

          1) ขอรับการสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อจัดหาอุปกรณ์ที่ทันสมัยเพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอน

          2) ปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน เพื่อให้ครอบคลุมการเรียนให้ได้มากที่สุด

          3) จัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสถานศึกษา เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์

 

 

ข้อเสนอแนะของผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (นายธฤติ  ประสานสอน)

          ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณ และบุคลากรที่ขาดแคลนอยู่แล้ว ในช่วง 2 ปีที่ผ่านนี้เรายังต้องเจอกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ทำให้ยิ่งขาดแคลน แต่ต้องขอบคุณการทำงานของทุกหน่วย ทุกผ่ายที่ทำงานกันเกิน 100% และขอบคุณที่ร่วมกันขับเคลื่อนภาระกิจตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (น.ส.ตรีนุช  เทียนทอง) ทั้ง 5 ประเด็น คือ

          1. พาน้องกลับมาเรียน/ปักหมุด

          2. โรงเรียนคุณภาพ

          3. อาชีวะอยู่ประจำเรียนฟรี มีอาชีพ

          4. ความปลอดภัยสถานศึกษา MOE Safety Center

          5. หนี้สินครู

โดยขอให้ศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งถือเป็นตัวแทนของกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่เป็นประธาน ร่วมกันวางแผน ดำเนินการเพื่อตอบสนองภารกิจเร่งด่วน

          การบูรณาการร่วมกันระหว่าง 12 กระทรวง 1 หน่วยงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือนทั้ง 5 ประเภท (รายได้, สุขภาพ, การศึกษา, ความเป็นอยู่ และการเข้าถึงบริการภาครัฐ) โดยกลุ่มเปราะบางด้านการศึกษา ที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพ ขอให้ร่วมกันจัดทำฐานข้อมูลในภาพรวมของจังหวัดเพื่อเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาของจังหวัด และขอให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์/รณรงค์การฉีดวัคซีนครู และกลุ่มเด็ก 5 – 11 ปีฯ ให้ได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้น


 บันทึข้อมูลโดย: น.ส.น้ำฝน อินดู